เมื่อโลกร้อนและรวน: ภาคส่วนใดปล่อยก๊าซเรือนกระจกสูงสุด?

April 28, 2024
ก๊าซเรือนกระจกทำให้โลกร้อนขึ้นได้อย่างไร? เกี่ยวอะไรกับโลกร้อน?

ก๊าซเรือนกระจกเกิดจากธรรมชาติ เช่น ไอนํ้า และการหายใจของสิ่งมีชีวิต และเกิดขึ้นจากการทํากิจกรรมของมนุษย์ เช่น การเผาเชื้อเพลิงฟอสซิล ถ่านหิน น้ำมัน และก๊าซ การเผาเชื้อเพลิงฟอสซิลปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่มีลักษณะเหมือนผ้าห่มคลุมโลกไว้ ความร้อนจากดวงอาทิตย์จึงไม่สามารถระบายออก และส่งผลให้อุณหภูมิสูงขึ้น เมื่อก๊าซเรือนกระจกที่สะสมในชั้นบรรยากาศมีปริมาณมากเกินสมดุลพื้นผิวโลกจึงมีอุณหภูมิสูงขึ้นและก่อให้เกิดภัยธรรมชาติ เช่น ภัยแล้งรุนแรง พายุที่รุนแรง การขาดแคลนน้ำ ไฟไหม้รุนแรง ระดับน้ำทะเลสูงขึ้น น้ำท่วม น้ำแข็งขั้วโลกละลาย การสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพ และอื่น ๆ ที่สำคัญยิ่งก็คือ อุณหภูมิที่สูงขึ้นดังกล่าวไม่ได้เพียงส่งผลถึงมนุษย์ แต่ยังส่งผลต่อสิ่งมีชีวิตอื่นๆ บนโลกและระบบนิเวศด้วย 

อุณหภูมิโลกเพิ่มขึ้นกี่องศาแล้วตั้งแต่ยุคก่อนอุตสาหกรรม? 

กิจกรรมของมนุษย์ทำให้อุณหภูมิโลกสูงขึ้นแล้วประมาณ 1.0 องศาเซลเซียสเทียบกับอุณหภูมิก่อนอุตสาหกรรม และมีการคาดการณ์ว่าอุณหภูมิโลกจะสูงขึ้นถึง 1.5 องศาเซลเซียสภายในปีพ.ศ. 2573-2595 โดยตัวเลขอุณหภูมิที่สูงขึ้นมีความสำคัญอย่างมากเพราะนอกจากอุณหภูมิที่เพิ่มขึ้นจะส่งผลต่อชีวิตของมนุษย์ เช่น ระดับน้ำทะเลเพิ่มสูงขึ้นส่งผลต่อการตั้งถิ่นฐานชุมชนริมชายฝั่ง ยังทำให้สัตว์และพืชทั่วโลกกว่า 1 ล้านชนิดเสี่ยงต่อการสูญพันธุ์ในอีกไม่กี่ทศวรรษข้างหน้าซึ่งตัวเลขดังกล่าวเป็นจำนวนที่มากที่สุดในประวัติศาสตร์ของมนุษยชาติ  

สภาพภูมิอากาศเปลี่ยนแปลงกระทบมูลค่าถึง 83,826 ล้านบาทต่อปี 

การสะสมของก๊าซเรือนกระจกไม่เพียงก่อให้เกิดสภาพอากาศรุนแรงอันส่งผลกระทบโดยตรงต่อชีวิตมนุษย์และธรรมชาติ แต่ยังนำไปสู่ความสูญเสียทางเศรษฐกิจมูลค่ามหาศาล 

  • ด้านสภาพอากาศรุนแรง เกือบทุกพื้นที่ในประเทศไทยมีปริมาณน้ำฝนเพิ่มขึ้นทุกปี ส่งผลให้เสี่ยงต่อน้ำท่วมฉับพลันและภัยธรรมชาติที่จะเกิดจากอุทกภัยอีกหลายชนิด น้ำทะเลร้อนและสูงขึ้นเป็นภัยต่อชุมชนชายฝั่ง และภาคตะวันออกเฉียงเหนือและภาคใต้เสี่ยงกระทบจากภัยแล้งสูงกว่าภาคอื่น  ยิ่งไปกว่านั้น ผลกระทบที่ตามมาของสภาพภูมิอากาศสุดขั้วคือ ความอดอยาก การขาดสารอาหาร ความเสียหายต่อการประมง การเพาะปลูก และปศุสัตว์ 
  • ด้านผลกระทบต่อเศรษฐกิจ ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา 23% ของพื้นที่ชายฝั่งเผชิญวิกฤตการถูกกัดเซาะและสูญเสียพื้นที่จากการถูกกัดเซาะ 1-5 เมตรต่อปี ก่อให้เกิดความสูญเสียทางเศรษฐกิจสูงถึง 6,000 ล้านบาท ในด้านเกษตรกรรม โลกร้อนกระทบการเพาะปลูกโดยตรงเพราะความร้อนและปริมาณน้ำฝนที่ผันผวนทำให้ดินในการเพาะปลูกพืชสมบูรณ์น้อยลง และน้ำไม่เพียงพอต่อการทำเกษตรกรรม ส่งผลให้ผลผลิตทางการเกษตรเสียหาย เช่น มันสำปะหลังเน่าเสียจากปริมาณน้ำฝนที่มากเกินไป อ้อยขาดน้ำจากหน้าแล้งยาวนานขึ้น นอกจากนี้ปศุสัตว์เองก็ได้รับผลกระทบต่อสุขภาพ การเติบโต และการเพาะพันธุ์ เช่น อากาศร้อนทำให้หมูเครียด และเจริญพันธุ์น้อยลง โดยระหว่างปี พ.ศ. 2554-2588 ผลกระทบสะสมต่อภาคเกษตรสามารถสร้างความเสียหายรวมเป็นมูลค่ารวมสูง 17,912 ถึง 83,826 ล้านบาทต่อปี 
 
รู้หรือไม่ว่า ภาคส่วนใดในไทยปล่อยก๊าซเรือนกระจกสูงสุด? 

ก๊าซเรือนกระจกมากกว่า 60% เกิดจากภาคพลังงาน จากข้อมูลบัญชีก๊าซเรือนกระจกของประเทศไทย* ปี พ.ศ. 2561 ที่คำนวณจาก 5 ภาคส่วน**  พบว่าการปล่อยก๊าซเรือนกระจกมาจากภาคพลังงาน 69.06% ภาคเกษตรกรรม 15.69% ภาคกระบวนการอุตสาหกรรมและการใช้ผลิตภัณฑ์ 10.77% และภาคของเสีย 4.88% 

 
ภาคพลังงานมีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกการผลิตไฟฟ้าและความร้อน 40.05% 
 
ภาคเกษตรมีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากการทำเกษตรกรรม 77.57% และจากปศุสัตว์ 22.43% 

 

ภาคกระบวนการอุตสาหกรรมและการใช้ผลิตภัณฑ์มีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากอุตสาหกรรมการผลิตปูนซีเมนต์เกินครึ่ง คือกว่า 51.28% 

 

ภาคของเสียมีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากการกำจัดขยะมูลฝอย 52.53% 

 

ยิ่งโลกร้อน ยิ่งรับมือลำบาก

โลกร้อนกระทบต่อทุกภาคส่วนและต่อทุกคน แต่ส่งผลกระทบต่อคนแต่ละกลุ่มไม่เท่ากัน โดยเฉพาะคนที่ทำงานในภาคส่วนที่มีความอ่อนไหวสูงต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและไม่มีศักยภาพการรับมือต่อผลกระทบได้ดีนักจะได้รับผลกระทบสูงกว่าคนกลุ่มอื่น เช่น กลุ่มผู้มีรายได้น้อย ชุมชนในพื้นที่เสี่ยงภัยธรรมชาติ และกลุ่มธุรกิจที่จำเป็นต้องพึ่งพาสภาพอากาศและทรัพยากรธรรมชาติในการหาเลี้ยงชีพอย่างภาคการท่องเที่ยว โดยเฉพาะในส่วนที่ดำเนินการโดยผู้ประกอบการรายย่อย หรือในภาคเกษตรกรรม ที่ถึงแม้ว่าจะเป็นภาคส่วนที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกถึง 15.69% แต่ก็มีความเปราะบางต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศสูงเนื่องจากการประกอบอาชีพขึ้นอยู่กับสภาพอากาศโดยตรง

สภาพภูมิอากาศเปลี่ยนแปลงส่งผลกระทบต่อทุกภาคส่วน ต่อคนทุกคน แต่ก็ส่งผลกระทบในมิติที่แตกต่างและไม่เท่าเทียม หรือแม้แต่ในมิติที่เราคาดไม่ถึง เพราะแม้แต่ผู้คนที่อาศัยอยู่ในเมืองก็สามารถเผชิญความเสี่ยงเนื่องจากความหนาแน่นของประชากรที่เพิ่มสูงขึ้นและความร้อนที่เพิ่มสูงขึ้นจากภาวะโลกร้อน การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศจึงเป็นเรื่องของคนทุกคนและเป็นเรื่องของความยุติธรรมและการแสวงหาความเท่าเทียมอีกด้วย 

 

*ประเทศไทยได้จัดทำบัญชีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเพื่อบันทึกปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจก และนำมาใช้เป็นข้อมูลแบบต่อเนื่องเพื่อวิเคราะห์การเปลี่ยนแปลงและแนวโน้มการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในอนาคตและเสนอต่อสหประชาชาติภายใต้พันธกิจของประเทศไทยในฐานะภาคีอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยสภาพภูมิอากาศที่เปลี่ยนแปลง (UNFCCC) 

**ส่วนภาคป่าไม้และการใช้ประโยชน์ที่ดินมีการดูดกลับก๊าซเรือนกระจกมากกว่าการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจึงไม่นำมาคิดสัดส่วนของการปล่อยก๊าซเรือนกระจก

ดาวน์โหลดรายงานสถานการณ์การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของไทย