เพราะโลกนี้มีเพียงใบเดียว พบกับ ‘ลิซ่า ลูฟตง’ ผู้เชี่ยวชาญเบื้องหลังงานอนุรักษ์ธรรมชาติและการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในประเทศไทย
April 17, 2025

ทุกวันที่ 22 เมษายนของทุกปี เป็นอีกวันสำคัญที่หลายประเทศร่วมจัดกิจกรรมฉลอง Earth Day หรือ วันคุ้มครองโลก เพื่อย้ำเตือนถึงความสำคัญของการดูแลสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรธรรมชาติที่เราทุกคนมีส่วนร่วมรับผิดชอบ ท่ามกลางความท้าทายของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและการสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพอย่างต่อเนื่อง บทบาทของผู้ที่ขับเคลื่อนงานอนุรักษ์จึงยิ่งสำคัญขึ้นในทุกวัน
Faces of UNDP Thailand ฉบับนี้ เราจะพาคุณไปรู้จักกับ Lisa Louveton – Biodiversity and Climate Change Adaptation Specialist ประจำ UNDP ประเทศไทย ผู้อยู่เบื้องหลังความพยายามในการปกป้องธรรมชาติ สนับสนุนชุมชน และสร้างการเปลี่ยนแปลงเชิงระบบ เพื่อให้ทั้งคนและสิ่งแวดล้อมสามารถอยู่ร่วมกันอย่างยั่งยืน
เมื่อความหลงใหลในธรรมชาติ กลายเป็นแรงผลักดันให้ลิซ่าร่วมสร้างการเปลี่ยนแปลงกับ UNDP
ก่อนที่คุณลิซ่าจะเริ่มเดินสายทำงานด้านสิ่งแวดล้อม ก่อนหน้านี้เธอจบการศึกษาด้านรัฐศาสตร์ ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศและการบริหารความเสี่ยงด้านสิ่งแวดล้อม โดยเธอสำเร็จการศึกษาระดับปริญญาโทจาก Sciences Po เมือง Toulouse ประเทศฝรั่งเศส ในสาขาการจัดการความเสี่ยง สิ่งแวดล้อม และประเด็นด้านสุขภาพ ก่อนร่วมงานกับ UNDP คุณลิซ่ามีประสบการณ์ทำงานในหลากหลายองค์กรที่มุ่งเน้นด้านความยั่งยืน ไม่ว่าจะเป็นตำแหน่ง Strategic Partnership Manager ที่ TerraCycle Global Foundation ซึ่งเธอรับผิดชอบโครงการจัดการขยะและสร้างความร่วมมือเพื่อส่งเสริมการรีไซเคิลในประเทศไทย รวมถึงบทบาทในองค์กร IUCN (International Union for Conservation of Nature) ซึ่งเธอได้ขับเคลื่อนโครงการเศรษฐกิจหมุนเวียน ร่วมมือกับภาคธุรกิจในไทยและเวียดนามเพื่อลดการรั่วไหลของพลาสติกสู่สิ่งแวดล้อม
นอกจากนี้ คุณลิซ่ายังเคยเป็นเจ้าหน้าที่ด้านภูมิอากาศประจำสถานเอกอัครราชทูตฝรั่งเศสประจำประเทศไทย โดยช่วยส่งเสริมความร่วมมือทางวิทยาศาสตร์และจัดกิจกรรมระดับภูมิภาคเกี่ยวกับปัญหามลพิษทางทะเล ประสบการณ์เหล่านี้ทำให้เธอมีมุมมองที่ลึกซึ้งทั้งด้านนโยบายและการปฏิบัติจริงในการขับเคลื่อนประเด็นความยั่งยืน คุณลิซ่าได้บอกกับเราว่า “พอได้ใช้ชีวิตและทำงานในเมืองไทยมาหลายปี มันทำให้ฉันผูกพันกับที่นี่มาก เลยอยากมีส่วนช่วยขับเคลื่อนเรื่องการพัฒนาอย่างยั่งยืนในแบบที่จับต้องได้”
สิ่งที่ทำให้คุณลิซ่ารู้สึกอยากทำงานกับ UNDP คือแนวทางขององค์กรที่เน้นการแก้ปัญหาแบบมีส่วนร่วม และให้ความสำคัญกับการขับเคลื่อนโดยคนในพื้นที่ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศหรือการอนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพ
จากโต๊ะทำงานสู่การเปลี่ยนแปลงระดับภูมิภาค—บทบาทที่ไม่มีคำว่า "วันธรรมดา"
สำหรับคุณลิซ่าแล้ว ไม่มีวันไหนในออฟฟิศที่เหมือนเดิม—ทุกวันเต็มไปด้วยความหลากหลายและแรงบันดาลใจ บทบาทของเธอไม่ได้จำกัดแค่การจัดการโครงการ แต่ยังรวมไปถึงการวางกลยุทธ์ในระดับนโยบาย ปัจจุบันลิคุณซ่าดูแลหลายโครงการที่เกี่ยวข้องกับการอนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพและการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ซึ่งทำให้เธอต้องประสานงานกับพาร์ทเนอร์อยู่ตลอดเวลา ไม่ว่าจะเป็นการติดตามความคืบหน้า หรือดูให้แน่ใจว่าสิ่งที่ทำสอดคล้องกับเป้าหมายระดับประเทศและภูมิภาค
นอกจากการจัดการโครงการแล้ว คุณลิซ่ายังมีส่วนร่วมในการพัฒนาแนวคิดโครงการใหม่ ๆ โดยใช้ทั้งประสบการณ์ส่วนตัวที่เคยทำงานด้านปัญหามลพิษทางทะเล และแนวโน้มความสำคัญของประเด็นสิ่งแวดล้อมในปัจจุบัน เธอบอกว่าเธอสนุกกับการได้ระดมไอเดียและหาทางออกใหม่ ๆ อยู่เสมอ
คุณลิซ่าแชร์มุมมองที่น่าสนใจกับเราไว้ว่า “การร่วมมือ เป็นอีกส่วนสำคัญของงาน ไม่ว่าจะเป็นการประชุมกับหน่วยงานภาครัฐ วางแผนกับองค์กรพันธมิตร หรือแม้แต่การระดมความคิดกับเพื่อนร่วมทีม”
ในแต่ละวันของคุณลิซ่าจึงอาจเต็มไปด้วยการเตรียมงานใหญ่ อย่างงานที่กำลังจะจัดร่วมกับ WWF ในวันสากลแห่งความหลากหลายทางชีวภาพ เพื่อเปิดพื้นที่สนทนาเรื่องการลักลอบค้าสัตว์ป่าและความร่วมมือในระดับภูมิภาค ส่วนอีกวันอาจเป็นการวางแผนภายใน ติดต่อผู้สนับสนุน หรือเขียนรายงาน ข้อเสนอ หรือยุทธศาสตร์ต่าง ๆ ซึ่งทั้งหมดนี้คือส่วนหนึ่งของการขับเคลื่อนงานที่มีเป้าหมายเพื่อโลกที่ยั่งยืนยิ่งขึ้น
เสียงจากชุมชนคือแรงบันดาลใจขับเคลื่อนอนาคตที่ยั่งยืน
คุณลิซ่าบอกกับเราว่า ช่วงเวลาที่ประทับใจที่สุดระหว่างการทำงานกับ UNDP คือการได้ลงพื้นที่ที่อุทยานแห่งชาติเขาสามร้อยยอด จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ เพื่อเยี่ยมชมโครงการ MBT (Mainstreaming Biodiversity into Tourism) ที่นั่นเธอได้พูดคุยกับชุมชนในพื้นที่อย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะกับผู้นำสตรีท้องถิ่น ซึ่งเรื่องราวที่ทุกคนแบ่งปันออกมานั้น ทั้งจริงใจและเปี่ยมไปด้วยพลัง
สิ่งที่ทำให้คุณลิซ่ารู้สึกประทับใจเป็นพิเศษ คือการได้เห็นว่าชาวบ้านเชื่อมโยงเรื่องการอนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพเข้ากับวิถีชีวิตของพวกเขาได้อย่างไร ไม่ว่าจะเป็นการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ การแปรรูปอาหารพื้นถิ่น หรือการพัฒนาผลิตภัณฑ์จากทรัพยากรธรรมชาติในท้องถิ่น ทุกคนล้วนมีความภาคภูมิใจในสิ่งที่ทำ และรู้สึกเป็นเจ้าของกระบวนการเปลี่ยนแปลงนั้นอย่างแท้จริง
คุณลิซ่าบอกว่า ประสบการณ์ครั้งนี้ย้ำเตือนให้เธอเห็นว่าการเปลี่ยนแปลงที่แท้จริงเริ่มต้นจากการที่คนในพื้นที่มีพลังในการขับเคลื่อนตัวเอง และการได้อยู่ตรงนั้น รับฟังเรื่องราว และเห็นผลลัพธ์ของงานที่เกิดขึ้นจริงในชีวิตของผู้คน เป็นสิ่งที่มีความหมายกับเธออย่างลึกซึ้ง
La Vie En Rose อาจใช้ไม่ได้กับทุกสถานการณ์
ชีวิตของเราไม่ได้โรยด้วยกลีบกุหลาบ ดังคำกล่าว “La vie en rose” ที่คนฝรั่งเศสมักชอบเปรียบเปรย เป็นเรื่องปกติที่ในช่วงหนึ่งของชีวิติต้องเผชิญกับความท้าทาย คุณลิซ่าแชร์ถึงสิ่งที่เธอรู้สึกเป็นเรื่องท้าทาย คือการต้องเร่งเรียนรู้และทำความเข้าใจกับหัวข้อที่หลากหลายและละซับซ้อน เช่น การเงินเพื่อสภาพภูมิอากาศ การท่องเที่ยวที่ยั่งยืนทางชีวภาพ เกษตรกรรม และกรอบนโยบายต่าง ๆ ในขณะที่ต้องจัดการบริหารหลายโครงการพร้อมกัน “บางครั้งฉันไม่ได้มีเวลามากพอที่จะเจาะลึกในแต่ละหัวข้อ จึงต้องใช้ความสามารถในการหาข้อมูลให้เร็วและตอบคำถามที่ถูกต้องเพื่อให้การทำงานดำเนินไปได้อย่างมีประสิทธิภาพ”
การปรับตัวเข้าสู่ระบบของ UN ก็เป็นอีกหนึ่งความท้าทายที่ต้องเรียนรู้ในหลายด้าน ไม่ว่าจะเป็นการเข้าใจกระบวนการภายใน การประสานงานระหว่างทีมต่าง ๆ และการทำงานให้สอดคล้องกับจังหวะและภาษาของงานระดับพหุภาคี
อีกทั้งการทำงานใกล้ชิดกับพันธมิตรภาครัฐไทยและชุมชนท้องถิ่นในฐานะคนต่างชาติ คุณลิซ่าต้องใส่ใจในความละเอียดอ่อนทางวัฒนธรรม “ฉันได้เรียนรู้ที่จะใช้วิธีการฟังเป็นอันดับแรกเพื่อสร้างความเชื่อใจและความเข้าใจร่วมกัน รวมถึงทำให้แน่ใจว่างานของเราเชื่อมโยงกับบริบทและครอบคลุมทุกภาคส่วน” ความท้าทายเหล่านี้ไม่เพียงแต่ทำให้ลิซ่าเติบโตในด้านวิชาชีพ แต่ยังช่วยพัฒนาตัวเธอในด้านส่วนบุคคลด้วย
ความหลากหลายทางชีวภาพและสภาพภูมิอากาศ—สองวิกฤตที่ต้องแก้ไปด้วยกัน
ในฐานะทำหน้าที่เป็นผู้เชี่ยวชาญด้านความหลากหลายทางชีวภาพและการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ คุณลิซ่ามองว่า Earth Day เป็นมากกว่าวันรณรงค์เพื่อสิ่งแวดล้อม แต่คือโอกาสในการเน้นย้ำว่าทั้ง “ความหลากหลายทางชีวภาพ” และ “วิกฤตสภาพภูมิอากาศ” ไม่สามารถแยกออกจากกันได้ “ระบบนิเวศที่สมบูรณ์ไม่เพียงแค่ช่วยกักเก็บคาร์บอน แต่ยังปกป้องเราจากภัยพิบัติ และช่วยให้เรามั่นคงด้านอาหารและน้ำ” คุณลิซ่าอธิบาย พร้อมเสริมว่าการแก้ปัญหาทั้งสองด้านร่วมกันจะเปิดโอกาสให้เกิด แนวทางที่ใช้ธรรมชาติเป็นฐาน (nature-based solutions) ที่สามารถรับมือกับโลกร้อนและปกป้องวิถีชีวิตของผู้คนไปพร้อมกัน
ในหลายโครงการของ UNDP คุณลิซ่าให้ความสำคัญกับการมีส่วนร่วมของกลุ่มเปราะบางตั้งแต่ต้นทาง ไม่ว่าจะเป็นผู้หญิง ชนพื้นเมือง หรือชุมชนชายขอบ เพราะเธอเชื่อว่าความรู้ท้องถิ่นและบทบาทของผู้นำเหล่านี้คือหัวใจของการเปลี่ยนแปลงในระยะยาว “เราไม่สามารถพูดถึงการปกป้องโลกได้ หากเราไม่รวมทุกเสียงเข้ามาอยู่ในกระบวนการตัดสินใจ”
แม้กระทั่งในชีวิตประจำวัน คุณลิซ่ายังเลือกใช้ชีวิตให้สอดคล้องกับคุณค่าที่เธอเชื่อ เช่น การลดการบริโภคเนื้อสัตว์ลงอย่างมาก เพื่อช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกและการทำลายป่า “ฉันรู้สึกว่าทุกจานอาหารคือโอกาสเล็ก ๆ ที่จะเปลี่ยนโลก และอาหารจากพืชก็อร่อยกว่าที่คิด!” นอกจากนี้เธอยังหลีกเลี่ยงการใช้เครื่องปรับอากาศที่บ้าน เพื่อลดการใช้พลังงานอย่างยั่งยืนในแบบของตัวเอง
เทคโนโลยีเพื่อธรรมชาติ - เมื่อ AI และข้อมูลดิจิทัลกลายเป็นเครื่องมือสำคัญของการอนุรักษ์
ในยุคที่เทคโนโลยีดิจิทัลและปัญญาประดิษฐ์ (AI) เข้ามามีบทบาทมากขึ้นในทุกมิติของการพัฒนาอย่างยั่งยืน คุณลิซ่ามองว่านี่คือเครื่องมือสำคัญที่จะช่วยขยายผลกระทบของงานด้านสิ่งแวดล้อมให้ลึกและกว้างกว่าเดิม “จากประสบการณ์ของฉัน เทคโนโลยีดิจิทัลและ AI มีศักยภาพสูงมาก โดยเฉพาะในด้านการติดตาม วิเคราะห์ข้อมูล และสนับสนุนการตัดสินใจเชิงนโยบาย” เธอกล่าว
ตัวอย่างที่ชัดเจนคือโครงการ Global Biodiversity Framework Early Action Support (GBF-EAS) ที่ UNDP สนับสนุนการพัฒนาฐานข้อมูล GIS และแผนที่ความหลากหลายทางชีวภาพ เพื่อระบุพื้นที่ที่เหมาะสมสำหรับการอนุรักษ์และแนวทางการจัดการพื้นที่นอกระบบคุ้มครอง (OECMs) ในประเทศไทย “เครื่องมือเชิงพื้นที่เหล่านี้ช่วยให้เราเห็นภาพชัดเจนขึ้นว่า พื้นที่ใดคือจุดร้อนของความหลากหลายทางชีวภาพ และควรให้ความสำคัญเป็นลำดับแรก” คุณลิซ่าอธิบาย
นอกจากนี้ ยังมีการใช้แพลตฟอร์มดิจิทัลในการจัดทำรายงานและปรับปรุงแผนกลยุทธ์ด้านความหลากหลายทางชีวภาพของประเทศให้สอดคล้องกับกรอบโลก Kunming-Montreal Global Biodiversity Framework ซึ่งช่วยให้การติดตามผลและการรายงานมีประสิทธิภาพ และโปร่งใสมากขึ้น
ในโครงการด้านการใช้ที่ดินและการเกษตร เช่น SCALA Initiative เทคโนโลยีดิจิทัลยังเข้ามาช่วยแปลนโยบายด้านสภาพภูมิอากาศ (เช่น NDCs และ NAPs) ให้กลายเป็นการดำเนินงานที่เป็นรูปธรรม โดยเฉพาะในด้านการประเมินความเสี่ยง การวางแผนสถานการณ์ และการเชื่อมโยงความร่วมมือระหว่างภาครัฐ เอกชน และชุมชน
“ท้ายที่สุดแล้ว เทคโนโลยีเหล่านี้ไม่ได้แค่ช่วยให้เราทำงานได้แม่นยำและรวดเร็วขึ้น แต่ยังเปิดโอกาสให้การอนุรักษ์และรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเป็นเรื่องที่ทุกคนเข้าถึงได้ มีส่วนร่วมได้ และขยายผลได้จริง” คุณลิซ่าทิ้งท้าย
พัฒนาอย่างยั่งยืนต้องไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง” เมื่อธรรมชาติ ความเท่าเทียม และ SDGs เดินไปด้วยกัน
บทบาทของคุณลิซ่าในฐานะผู้เชี่ยวชาญด้านความหลากหลายทางชีวภาพและการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ คือจุดตัดสำคัญระหว่างธรรมชาติกับการพัฒนาที่ยั่งยืน “หน้าที่ของฉันทำให้สามารถบูรณาการเรื่องความยั่งยืนและความเท่าเทียมเข้าไปในทุกระดับของการวางแผนและดำเนินงานด้านสิ่งแวดล้อม ไม่ว่าจะเป็นการออกแบบแนวทางใช้ประโยชน์จากธรรมชาติ (nature-based solutions) หรือการผลักดันนโยบายที่เน้นความหลากหลายทางชีวภาพในระดับประเทศ” เธอกล่าวอย่างภาคภูมิใจ
UNDP เองก็มีบทบาทสำคัญในฐานะผู้ประสานงานที่เชื่อมโยงภาครัฐ ภาคประชาสังคม ภาคธุรกิจ และชุมชนเข้าด้วยกัน “เรามีทั้งความเชี่ยวชาญเชิงเทคนิค ทรัพยากร และเครือข่ายที่สามารถเร่งการบรรลุเป้าหมาย SDGs ของประเทศไทยให้เกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรม” คุณลิซ่าอธิบาย
สิ่งที่คุณลิซ่าให้ความสำคัญอย่างยิ่งในทุกโครงการคือการมีส่วนร่วมของผู้คนจากหลากหลายเพศ วัย และกลุ่มเปราะบาง “เรื่องความเท่าเทียมทางเพศไม่ใช่แค่สิ่งที่เราต้องทำเพราะมีข้อกำหนด แต่มันคือหลักคิดที่ฉันเชื่อมั่น และฝังอยู่ในทุกช่วงของการทำงาน ตั้งแต่การออกแบบโครงการไปจนถึงการติดตามผล”
ในโครงการ Mainstreaming Biodiversity into Tourism (MBT) ซึ่งลิซ่าดูแล มีการออกแบบกิจกรรมที่เอื้อต่อการมีส่วนร่วมของผู้หญิงอย่างชัดเจน เช่น การส่งเสริมบริการท่องเที่ยวที่นำโดยผู้หญิง การสนับสนุนให้พวกเธอมีส่วนร่วมในเวทีตัดสินใจระดับจังหวัด และการสร้างรายได้ที่มั่นคงผ่านกิจกรรมอนุรักษ์ในชุมชน “การได้เห็นผู้หญิงลุกขึ้นมาเป็นผู้นำในกิจกรรม Eco-Tour ได้รับความมั่นคงทางการเงิน และมีบทบาทในเวทีอนุรักษ์ระดับท้องถิ่น เป็นสิ่งที่ทำให้ฉันเชื่อว่า เรากำลังมาถูกทางแล้วจริง ๆ” คุณลิซ่ากล่าวทิ้งท้าย
ทิ้งท้ายคำแนะนำให้คนที่สนใจทำงานด้านนี้ แล้วอยากมาเป็นส่วนหนึ่ง #JoinALifeChangingMission กับ UNDP หน่อย
การทำงานกับ UNDP เป็นประสบการณ์ที่ให้รางวัลกับใจอย่างมาก แต่ก็ท้าทายไม่น้อย เพราะมันจะพาคุณออกจาก safe zone ของตัวเอง—ในทางที่ดีที่สุดเลยล่ะ คุณจะได้เจอกับงานหลายเรื่องในเวลาเดียวกัน ทำงานกับทีมที่หลากหลาย และร่วมมือกับพาร์ทเนอร์หลายระดับ ตั้งแต่เจ้าหน้าที่ภาครัฐ ไปจนถึงชุมชนในท้องถิ่น
ขอ 3 คำ กับ UNDP: ครอบคลุม (Inclusive) ล้ำสมัย (Innovative) เปลี่ยนแปลงได้จริง (Impactful)ลิซ่า ลูฟตง, ผู้เชี่ยวชาญงานอนุรักษ์ธรรมชาติและ การปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ