การเดินทางของเจ้าชายน้อย สู่ Melayu Living ห้องรับแขกนักสร้างสรรค์แห่ง 3 จังหวัดชายแดนใต้ กับบทเรียนการพัฒนาที่ยั่งยืน

November 7, 2023

      

     ในยามบ่ายวันหนึ่งที่ดาว B612 เจ้าชายน้อยได้รับห่อของขวัญขนาดใหญ่ พร้อมการ์ดใบเล็ก 

      การ์ดใบนั้นจ่าหน้าซองว่า “ขอเชิญมาเป็นเกียรติในงาน 80 ปีเจ้าชายน้อย”  มีข้อความข้างในสั้น ๆ ว่า “พวกเราส่ง ‘เรือกอและ’ มาให้ หวังว่าจะได้สร้างมิตรภาพกับท่าน โปรดนั่งเรือลำนี้มาเยี่ยมเยือน Melayu Living ห้องรับแขกของเราในเมืองโบราณเล็ก ๆ ชื่อปัตตานี” 


      เจ้าชายน้อยแกะห่อของขวัญออกมา ข้างในนั้นบรรจุเรือไม้ที่มีลวดลายแสบสันงดงามแปลกตา เจ้าชายน้อยเรียนรู้จากหมาจิ้งจอกว่ามิตรภาพเป็นสิ่งสำคัญ หมาจิ้งจอกเคยกล่าวกับเขาว่า “มนุษย์เขาไม่มีเวลาจะรู้จักสิ่งใดทั้งสิ้น เขาซื้อของสำเร็จรูปจากพ่อค้า แต่เนื่องจากพ่อค้าขายเพื่อนยังไม่ปรากฎ เธอจึงต้องสร้างความสัมพันธ์” ดังนั้นมนุษย์ที่รู้จักความสำคัญของมิตรภาพก็คู่ควรก็แก่การสร้างความสัมพันธ์


      เจ้าชายน้อยออกเดินทางมาตั้งแต่เช้าตรู่ด้วยเรือไม้ ที่อธิบายไว้ในการ์ดว่าเป็นเรือที่เรียกว่า ‘เรือกอและ’ เจ้าชายน้อยเดินทางไม่นานนักเจ้าเรือกอและก็นำทางเขามาสู่ Melayu Living ห้องรับแขก ซึ่งอยู่ในบ้านเก่าแก่ ย่านชุมชนจีนโบราณ ละแวกใกล้เคียงกับศาลเจ้าแม่ลิ้มกอเนี่ยว ในเมืองปัตตานี 

 

       

        เขาพบกับผู้ชายสองคนที่มีท่าทีเป็นมิตร

       “ชื่อ ราชิต ระเด่นอาหมัด รักษาการประธานกลุ่ม Melayu Living และมีอาชีพเป็นเป็น Design Director” ผู้ชายคนแรกแนะนำตัว

      “ชื่อ ฮาดีย์ หะมิดง ทำงานในภาคส่วน NGO มาตลอด เป็นหนึ่งในสมาชิกของ Melayu Living ครับ” สิ้นเสียงของคนแรก ชายหนุ่มอีกคนก็แนะนำตัวบ้าง

       พวกเขาทั้งสองคนแนะนำว่าห้องรับแขกที่ชื่อว่า Melayu Living เป็นเสมือนห้องทดลอง ของคนทำงานสร้างสรรค์ ที่ต้องการสร้างสรรค์ไอเดียดี ๆ ที่ไม่จำเป็นต้องติดกรอบเดิม ๆ เพื่อให้เกิดประโยชน์กับพื้นที่ที่ตัวเองอยู่ 

       หลังจากที่พูดคุยกันเล็กน้อย ราชิตก็เชิญชวนเจ้าชายน้อยไปดื่มน้ำชายามเช้าของปัตตานี ที่เรียกว่า ‘แตออ’ ราชิตอธิบายว่ามันเป็นเสมือนพิธีรีตองที่เราใช้ต้อนรับแขกเมื่อมาเยือนปัตตานี 

       “พิธีรีตองเป็นสิ่งที่ทำให้วันหนึ่งมีความหมายต่างจากวันอื่น ๆ” หมาจิ้งจอกเคยอธิบายกับเจ้าชายน้อยไว้แบบนั้น

      

      ราชิตเล่าให้เจ้าชายน้อยฟังว่าเขาเริ่มก่อตั้ง Meleyu Living และจัดงานที่ชื่อว่า Pattani Decoded ครั้งที่ 1 Decode หมายถึง การถอดรหัส Pattani Decoded ก็คือการถอดรหัสพื้นที่ปัตตานี โดยกลุ่มคนทำงานสร้างสรรค์ซึ่งมีอยู่ในปัตตานีมากมาย 

      Pattani Decoded ครั้งที่ 1 จึงเหมือนกับการนำพลังสร้างสรรค์ของศิลปินคนทำงานสร้างสรรค์ในชุมชนออกมาเพื่อที่จะพัฒนาปัตตานีไปด้วยกันทั้งทางศิลปะ การทำเศรษฐกิจสร้างสรรค์ ทำให้เกิดการมีส่วนร่วมของหลายภาคส่วนภายในท้องถิ่น 

     “พลังของคนในท้องถิ่นที่ร่วมกันใช้ความคิดสร้างสรรค์พัฒนาถิ่นที่อยู่ของตนเองเป็นสิ่งสำคัญมาก เพื่อที่เมืองจะได้โตด้วยตัวเองอย่างเป็นธรรมชาติไปเรื่อย ๆ  ไม่ใช่เพียงเติบโตตามโครงสร้างนโยบายของส่วนกลางอย่างเดียว อยากทำให้รู้ว่าปัตตานีที่แท้จริงมีความรุ่มรวยทางวัฒนธรรมอย่างไร มีมิตรภาพ มีพลังของเยาวชนที่มาช่วยงานอาสาสมัครในงาน Pattani Decoded จำนวนมาก พวกเขามีส่วนร่วมทั้งทำ ทั้งคิด ทั้งนำเสนอในกระบวนการต่าง ๆ นี่คือการสร้างพลังงานดี ๆ ให้เกิดขึ้นในชุมชน เป็นแรงขยับเล็ก ๆ ที่สำคัญ” ราชิตเล่าถึงความสำคัญของ Pattani Decoded ครั้งที่ 1 ด้วยความตื้นตันใจ

       การทำงานของเหล่านักสร้างสรรค์ที่ Melayu Living คือพลังเล็ก ๆ ที่ทรงพลังในการรังสรรค์เมืองที่ปลอดภัย ซึ่งตรงกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals : SDGs) อันเป็นเป้าหมายของดาวโลก ที่ต้องการสร้างการพัฒนาอย่างยั่งยืนและรอบด้านโดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง 

       การทำงานของ Melayu Living ในเมืองเก่าแก่ที่ชื่อว่าปัตตานีก็กำลังเป็นส่วนหนึ่งของความมุ่งมั่นระดับโลกในการพัฒนาที่ยั่งยืน สิ่งที่ Melayu Living ทำตรงกับเป้าหมายที่ 11 ที่ระบุถึงการทำให้เมืองและการตั้งถิ่นฐานของมนุษย์ มีความครอบคลุม ปลอดภัย ยืดหยุ่นต่อการเปลี่ยนแปลง และยั่งยืน รวมทั้งเป้าหมายที่ 16 ที่ระบุถึงการส่งเสริมสังคมที่สงบสุขและครอบคลุม เพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน ให้ทุกคนเข้าถึงความยุติธรรม

      

       จากนั้นทั้งสองคนก็พาเจ้าชายน้อยเดินย่านเมืองเก่าของปัตตานี ผ่านถนนอารูเนาะ ปัตตานีภิรมย์ ฤาดี

      “หลังจากได้เสียงตอบรับเป็นอย่างดีจาก Patani Decoded ครั้งที่ 1 ครั้งนี้เราได้ขยายความร่วมมือ ขยายมิตรภาพไปยังนอกพื้นที่ปัตตานีและ 3 จังหวัดชายแดนมากขึ้น” ราชิตเล่าระหว่างที่เดินเล่น “เราได้เชิญเพื่อน ๆ นักเขียน นักออกแบบ ศิลปินจากกรุงเทพฯ มาช่วยกันวางแผนงาน เมื่อเกิด Movement (การขับเคลื่อน) ทั้งจากภายในพื้นที่ และการขยาย Movement จากเพื่อน ๆ ต่างท้องถิ่น ทำให้งานออกมามีมิติมากขึ้น และที่สำคัญหัวใจหลักของ Pattani Decoded ครั้งที่ 2 คือ ไม่ใช่แค่การออกแบบงานสร้างสรรค์ หรือเฉพาะการทำเศรษฐกิจสร้างสรรค์ แต่คือการนำโจทย์ของสังคมมาออกแบบเพื่อเข้าใจและแก้ปัญหา”

       ฮาดีย์ซึ่งเป็นผู้รับผิดชอบหลักของงาน Patani Decoded ครั้งที่ 2 อธิบายถึงแนวคิดหลักของการจัดงานครั้งนี้ว่า ปัตตานีมีแหล่งผลิต ‘เกลือหวาน’ ที่ดีมาก เป็นแหล่งผลิตเกลือแหล่งเดียวในคาบสมุทรมาลายู ซึ่งมีประวัติศาสตร์ยาวนานสามารถย้อนไปได้ถึง 400 ปี 

       เกลือหวานเป็นวัตถุดิบหลักที่ใช้ส่งออกทำการค้าอย่างหนึ่งของปัตตานีตั้งแต่เมื่อหลายร้อยปีก่อน แต่เมื่อวันเวลาผ่านไปบ้านเมืองขยายมากขึ้นที่ทำนาเกลือลดลง ประกอบกับสภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลงไป ทำให้เกลือหวานมีปริมาณลดน้อยลง พวกเขาจึงนำเกลือหวาน ซึ่งเป็นวัตถุดิบที่มีความสำคัญกับพื้นที่ทั้งทางประวัติศาสตร์ วัฒนธรรม การค้า และความมั่นคงทางอาหาร มาใช้เป็นตัวหลักในการขับเคลื่อนงานปัตตานี Decoded ครั้งที่ 2 เพื่อให้ทุกคนมีส่วนร่วมในการทำความเข้าใจ รวมทั้งหาวิธีการสร้างสรรค์ในการร่วมกันทำความเข้าใจและพัฒนาเกลือหวานของปัตตานี

      

     “กิจกรรมแรกของ Patani Decoded ครั้งที่ 2 ที่ทำคือการเดินสำรวจสายน้ำ” ฮาดีย์เล่าต่อ “การเดินทางของเกลือเนี่ยมันไม่ได้เกิดขึ้นในทะเลอย่างเดียว มันมาจากคูคลองที่อยู่ในเมือง มีกลุ่มที่ชื่อว่ากลุ่ม Trash Hero Pattani ที่เดินเก็บขยะทั้งเมือง เขาสนใจมาลองสำรวจคลองที่วิ่งผ่านเขตตลาดสดในเมืองเพื่อดูว่าน้ำพวกนี้ที่มันไหลไปสู่ทะเลแล้วกลายเป็นเกลือ มันสะอาดหรือเปล่า พอได้ไปเดินสำรวจ เก็บตัวอย่างน้ำ ดูความหลากหลายทางชีวภาพของสัตว์ที่อยู่ริมคลองกัน ก็โชคดีที่พบว่ามันก็ยังสะอาด เพียงแต่ว่ามันดูสีดำเพราะว่าตะกอนที่มันลงไป” 

      “งานมันมีมิติที่ซับซ้อนแล้วก็ครอบคลุมมากขึ้น เราไม่ได้เพียงพูดเรื่องออกแบบแล้ว เราพูดเรื่องระบบนิเวศด้วย เราพูดเรื่องการใช้น้ำยังไง การใช้ทะเลยังไง เราพูดเรื่องเมืองที่มันขยายไป เราพูดเรื่องความภาคภูมิใจ”  

       การดำเนินงาน Patani Decoded ครั้งที่ 2 จึงยังคงมีความสอดคล้องกับการพัฒนาที่ยั่งยืนเช่นกัน โดยตรงกับ SDGs เป้าหมายที่ 14 คือการอนุรักษ์และใช้ประโยชน์จากมหาสมุทร ทะเลและทรัพยากรทางทะเลอย่างยั่งยืนเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน รวมทั้งเป้าหมายที่ 15 หยุดการสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพ

       จากนั้นก็มีนิทรรศการ The Old Man and the Sea Salt 

       Melayu Living ไปคุยกับคนทำนาเกลือ ฟังปัญหาในเชิงโครงสร้าง รวมทั้งปัญหาด้านดินฟ้าอากาศที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงทางภูมิอากาศที่คนทำนาเกลือเจอ ซึ่งการจัดนิทรรศการก็ทำให้เกิดความร่วมมือและการเข้าใจปัญหาร่วมกันระหว่างคนทำนาเกลือ คนในชุมชน เทศบาล หน่วยงานในท้องถิ่น

       การทำงานนี้นั้นยังตรงกับ SDGs เป้าหมายที่ 13 ที่ระบุถึงปฏิบัติการเพื่อต่อสู้กับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและผลกระทบที่เกิดขึ้น นอกจากนี้ การจัด Patani Decoded ทั้ง 2 ครั้งยังตรงกับ SDGs เป้าหมายที่ 3 คือการส่งเสริมความเป็นอยู่ที่ดีสำหรับทุกคนในทุกช่วงวัยด้วย

       การเดินชมเมืองพร้อมกับเรื่องเล่าเกี่ยวกับ Patani Decoded ครั้งที่ 2 ทำให้เจ้าชายน้อยรู้สึกดีมาก และเริ่มหิวอีกรอบแล้วเช่นกัน พอดีกับที่ฮาดีย์บอกว่า จะพาเขาไปนั่งเรือกอและของพวกผู้ใหญ่ เพื่อที่จะล่องเรือไปดูคนทำนาเกลือ ทำเกลือหวาน ซึ่งเป็นความภาคภูมิใจของชาวปัตตานีอย่างที่เล่าให้เจ้าชายน้อยฟังไป 

       เจ้าชายน้อยตื่นเต้นมากที่จะได้ไปเห็นของจริง เมื่อล่องเรือไปถึงนาเกลือ ฮาดีย์ก็เล่าว่าเกลือหวานพวกนี้เป็นวัตถุดิบส่วนหนึ่งของน้ำบูดู ซึ่งฮาดีย์เอาบูดูมาเคี่ยวกับเกลือหวาน แล้วทำข้าวยำ อันเป็นอาหารท้องถิ่นให้เจ้าชายน้อยได้ลิ้มรสในวันนี้


 

       “ในการทำ Pattani Decoded ช่วงแรก ๆ ด้วยความที่สถานการณ์ในปัตาตานีค่อนข้างตึงเครียด พวกเราเป็นมุสลิมที่มีสถานที่ทำงานในชุมชนจีนก็มีความหวาดระแวงในชุมชนอยู่เหมือนกัน พวกเราจึงต้องพิสูจน์ความจริงใจ และสร้างมิตรภาพ” ราชิตเล่าระหว่างมื้ออาหารเที่ยง

        “พี่ป้อง พันธุ์ฤทธิ์ ที่เป็นอดีตประธานชุมชนหัวตลาดของชุมชนจีนในพื้นที่ เขาบอกว่า ไอ้พวกนี้ตั้งกลุ่มมาเนี่ย คนในพื้นที่คัดค้านมาก ทุกคนเข้ามาหาแกแล้วก็พยายามที่จะถามว่าเกิดอะไรขึ้น ทำไมถึงมีพวกมุสลิมมาอยู่ในพื้นที่ได้ มันต้องทำอะไรที่ไม่ดีแน่เลย มันเอาเงินมาจากไหนมาทำกิจกรรมแบบนี้” 


 

      

       “แกเล่าให้ฟังว่า ตอนนั้นมันมีความระแวงแบบนี้เยอะมาก ๆ โดยที่เราไม่รู้ตัว แต่สุดท้ายตอนที่เราจะจัด Pattani Decoded ครั้งที่ 1 ที่เราเริ่มเคาะประตู เริ่มคุยกับชาวบ้านมากขึ้นเรื่อย ๆ ก็เหมือนกับทุกคนปลดล็อก ว่า เฮ้ย ไอ้พวกนี้มันไม่ได้มีอะไรแอบแฝงนี่หว่า มันทำงานด้วยความบริสุทธิ์ใจจริง ๆ”

        มิตรภาพสำคัญมากสำหรับพวกเขา นอกจากคนในพื้นที่ คนต่างท้องถิ่น ยังมีคนที่มาจากดินแดนที่ไกลออกไปเช่นเดียวกับเจ้าชายน้อย 

        Lulu ซึ่งเป็นศิลปิน Mural Painting จากญี่ปุ่นที่เวียนไปเขียนภาพมาทั่วโลก ก็มาเขียนงานที่ปัตตานี มาเข้าใจท้องถิ่น ไม่ตัดสินปัตตานีแค่ภาพความรุนแรงจากข่าวทั่วไป นำมุมมองของตนเองมาแลกเปลี่ยนกับคนในท้องถิ่นผ่านงานศิลปะ 

        นอกจากนี้ประมาณเมื่อ 5 ปีที่แล้วมีเป็นนักท่องเที่ยวชื่อ Ryan Anderson ที่ตระเวนถ่ายสารคดีในพื้นที่เอเชีย ทั้งไทย มาเลเซีย สิงคโปร์ เขาสนใจห้องรับแขกแห่งนี้ Melayu Living ก็เลยจัดทำบรรยากาศของพื้นที่ให้เป็นเหมือนโรงหนังเล็ก ๆ โดยตั้งชื่อว่า Melayu Rama แล้วก็ชวน Brian มาฉายหนังให้คนในพื้นที่ได้ดู เพื่อสร้างแรงบันดาลใจและบทสนทนาระหว่างกัน แล้วเขาก็นำภาพพวกนี้เอาไปเผยแพร่ต่อที่อื่นที่เขาจะเดินทางต่อไป

        การดำเนินกิจกรรมในชุมชนเล็ก ๆ ก็สามารถสร้างความร่วมมือระดับระหว่างประเทศได้ 

        การสร้างมิตรภาพและความร่วมมือระดับระหว่างประเทศ เพื่อสร้างความเข้าอกเข้าใจในเพื่อนมนุษย์ร่วมกัน เป็นการร่วมมือเพื่อสร้างความเข้มแข็งในการร่วมมือแบบไร้พรมแดนในรูปแบบหนึ่ง ประจวบเหมาะพอดีกับเป้าหมายที่ 17 ของ SDGs ซึ่งคือ เสริมความเข้มแข็งให้แก่กลไกการดำเนินงานและฟื้นฟูสภาพหุ้นส่วนความร่วมมือระดับโลกสำหรับการพัฒนาที่ยั่งยืน

 

      

     หลังจากกินข้าวเที่ยงเสร็จ มีงานที่สำคัญที่รอเจ้าชายน้อยอยู่ นั่นก็คือการเรียนภาษายาวีกับ อาจารย์แวมายิ ปารามัล เพื่อให้เขาได้บอกเล่าการเดินทางที่ผ่านมาของตนเองเป็นภาษายาวี 

      อาจารย์แวมายิ ปารามัล ได้ถ่ายทอดการเดินทางที่เจ้าชายน้อยได้ไปเรียนรู้ยังดาวต่าง ๆ เป็นหนังสือแปล ครบรอบ 80 ปี เจ้าชายน้อย ฉบับภาษายาวี ซึ่งเป็นภาษาที่สำคัญมากและคู่ควรจะอนุรักษ์ไว้ของพี่น้อง 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ 

      เจ้าชายน้อยดีใจที่ได้มีส่วนร่วมกับงานดังกล่าว เมื่อถึงเวลาที่เขาต้องจากลาดินแดนปัตตานี เขาก็กอดลาทุกคน 

      ก่อนที่เจ้าชายน้อยจะไป เขาถามราชิตและฮาดีย์ว่าฝันเห็นโลกเป็นแบบไหน 

      “ไม่ได้มองว่าโลกต้องเป็นแบบไหน เราไม่จำเป็นที่จะต้องไปเป็นคนขับเคลื่อนโลกก็ได้ แต่อะไรที่เราคิดว่ามันดี และเราทำได้ เราก็แค่ลองทำมันดู” ราชิตบอก ก่อนฮาดีย์จะพูดต่อ “อยากให้ทุกอย่างเป็นปกติเป็นธรรมดา ไม่มีกฎหมายหรือมาตราการพิเศษใด ๆ มากดทับวิถีชีวิตของคน โดยเฉพาะคนใน 3 จังหวัดชายแดน”

      แท้จริงแล้ว ราชิต ฮาดีย์ และทีม Melayu Living เอง ก็เป็นคนธรรมดาในพื้นที่ ที่อยากเห็นบ้านเกิดของตัวเองพัฒนาไปในทางที่ดี จึงรวมตัวกันและลงมือสร้างความเปลี่ยนแปลง

      ไม่ว่าคุณเป็นคนที่ไหน คุณก็สามารถนำทักษะที่ตัวเองมีมาผนึกกำลังกับผู้ร่วมอุดมการณ์ได้เช่นกัน ค่อย ๆ เป็น ค่อย ๆ ไป ค่อย ๆ คิด ค่อย ๆ ทำ อย่างที่พวกเขาในชายแดนใต้ทำกันในหลายปีที่ผ่านมา

      เมื่อเจ้าชายน้อยกลับถึงดาว B612 ก็พอดีกับมีจดหมายจาก Melayu Living เขียนมาหาเขาว่า 

      “ขอบคุณมากที่มาสร้างมิตรภาพร่วมกัน เรื่องราวของคุณทั้งหมดที่ถ่ายทอดมาเป็นภาษายาวี ทำให้ภาษายาวีมีชีวิตชีวาขึ้น ทำให้นักสร้างสรรค์ รวมทั้งเยาวชนในท้องถิ่นสนใจและให้ความสำคัญกับภาษาท้องถิ่นของตนเองมากขึ้น”

       เจ้าชายน้อยคิดว่าการไป Melayu Living ครั้งนี้ก็เหมือนกับประโยคที่เขาบอกใครต่อใครมาตลอด 80 ปีว่าสิ่งที่ทำให้ทะเลทรายงดงามนั้น อยู่ตรงที่ว่ามันซ่อนบ่อน้ำไว้ที่ใดที่หนึ่ง” มิตรภาพและพลังงานสร้างสรรค์ที่คนในเมืองปัตตานีได้รับจาก Melayu Living และ Melayu Living ก็ได้รับสิ่งนั้นจากคนอื่น ๆ เช่นกัน ก็ไม่ต่างจากบ่อน้ำหนึ่งบ่อในปัตตานี และเชื่อว่ายังมีบ่อน้ำอีกหลายแห่งที่จะถูกรังสรรค์ขึ้น

       ต่อจากนี้ เหล่าสมาชิกห้องรับแขก Melayu Living ราชิต ฮาดีย์ และคนอื่น ๆ ก็ยังคงขับเคลื่อน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ด้วยงานสร้างสรรค์ไปเรื่อย ๆ หวังว่าเราจะเห็น Pattani Decoded และงานอื่น ๆ ดึงเสน่ห์พื้นถิ่นออกมาให้สาธารณชนเห็นอีกมากมาย เห็นแต่ละภาคส่วนจับมือกันทำสิ่งใหม่ ๆ ที่จะเปลี่ยนแปลงพื้นที่ไปตลอดกาล

       และที่สุดแล้ว อย่างที่ฮาดีย์บอก หวังว่าเห็น 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้กลายเป็นโลกแห่งความธรรมดา ทุกคนอยู่กันได้อย่างปกติสุขตลอดไป

อ้างอิง

หนังสือเจ้าชายน้อย เขียนโดย อองตวน เดอ แซงเตก-ซูเปรี แปลโดย อำพรรณ โอตระกูล ตีพิมพ์ พ.ศ. 2566 สำนักพิมพ์จินด์