นัทชี่ ณัทกร จาก Transgender กำพร้า สู่มงแม่หลวงบ้านแห่งหมู่บ้านสันคะยอม จังหวัดลำพูน ผู้แน่วแน่ต่อการพัฒนาที่ยั่งยืน

November 21, 2023

       

       ณ หมู่บ้านเล็กๆ ชื่อสันคะยอม ที่ตั้งอยู่ที่ตำบลป่าสัก อำเภอเมืองลำพูน ได้มีเด็กเล็ก ๆ คนนึงที่เป็นที่รัก เอ็นดูและสงสารของชาวบ้าน เนื่องจากเมื่อเกิดมาได้เพียง 3 เดือนก็ต้องกำพร้าแม่ไป เด็กคนนั้นชื่อ จีโร่-ณัทกร สามปันสักดิ์

       เมื่อกำพร้าก็ต้องตกอยู่ในความดูแลของผู้เป็นย่า โดยมีชาวบ้านทั้งหมู่บ้านคอยเลี้ยงดูอุ้มชูแทนแม่ที่เสียไปด้วยอีกแรง ณัทกรเกิดมามีเพศกำเนิดชาย แต่เธอรู้สึกมาตั้งแต่เด็ก ๆ ว่าเธอเป็นผู้หญิง 

       “เราไปเอากางเกงมวยพี่ชายมาใส่ แต่ใส่เป็นกระโปรงขาเดียว อีกขานึงเก็บไว้ แล้วก็เอาก้อนหินก้อนใหญ่ ๆ มามัดติดรองเท้าแตะตรงส้นให้เป็นรองเท้าส้นสูง ตอนนั้นเหมือนเรารู้ตัวแล้วว่าเราไม่ใช่ผู้ชาย” ณัทกรเล่าชีวิตในวัยเด็ก

       

       ณัทกรเป็นเด็กที่สอบได้ที่ 1 มาโดยตลอด สามารถสอบเข้าโรงเรียนชายล้วนประจำจังหวัดได้ เรื่องกิจกรรมหมู่บ้านก็ไม่เคยขาด จะเป็นงานบุญ งานทอดกฐิน งานเบื้องหลังที่ต้องฝึกสอนให้เพื่อนผู้หญิงฟ้อนรำอย่างเฉิดฉาย หรือกิจกรรมอาสาต่าง ๆ ของหมู่บ้านก็ล้วนมีณัทกรเข้าร่วม จนเธอได้กลายเป็นตัวแทนเยาวชนของหมู่บ้าน การซึมซับการทำงานของชุมชนและความรักของคนในหมู่บ้านมาตั้งแต่จำความได้ ได้กลายเป็นเส้นทางชีวิตที่สำคัญของเด็กน้อยณัทกรในเวลาต่อมา

      การเป็นเด็กเรียนของณัทกรทำให้เธอกลายเป็นที่ชื่นชมของชาวบ้านในหมู่บ้านอีกครั้ง เมื่อเธอสามารถสอบเข้าเรียนในมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา วิชาเอกสังคมสงเคราะห์ ในรอบโควต้าได้ ซึ่งมีน้อยคนในหมู่บ้านนักที่จะทำได้ 

      ที่มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เธอได้เกิดใหม่ในชื่อ ‘นัทชี่’ และนอกเหนือไปจากชื่อ ที่นี่ยังได้ขัดเกลาให้เธอมีมุมมองเกี่ยวกับมนุษยธรรมที่ว่า คนทุกคนเกิดมาเป็นคนดี คนไม่ได้อยากกระทำผิด หากเขากระทำผิดก็อาจจะมาจากโครงสร้างทางสังคมที่กระทำต่อเขา ดังนั้นเมื่อเจอคนทำผิดต้องรับฟังว่ามีสาเหตุมาจากอะไร ให้โอกาสเขาในการกลับตัวกลับใจ และการรับฟังจะทำให้แก้ปัญหาสังคมได้ตรงจุด ไม่มุ่งตัดสินคนว่าผิดในระดับปัจเจกเพียงอย่างเดียวและผิวเผิน 

      นอกจากการเรียนหนังสือ นัทชี่ยังได้ทำกิจกรรมมากมาย โดยเฉพาะเรื่องถนัดคือการเป็นพี่เลี้ยงนางงาม ซึ่งงานเบื้องหลังที่ได้ผลักดันให้ผู้อื่นได้โดดเด่นสวยงานบนเวทีต่าง ๆ แบบนี้เป็นงานที่เธอถนัดมาตั้งแต่เป็นเด็กเล็ก ๆ

      เมื่อเธอเรียนจบมหาวิทยาลัย ชีวิตของเธอผกผันได้ทำหลากหลายอาชีพทั้งผู้ช่วยวิจัย งาน อบต. รวมทั้งงานสปา ซึ่งเธอไต่ระดับไปสู่ตำแหน่งสูง ๆ ของสปาโรงแรมชื่อดังในภาคเหนือได้ 

 

     ชีวิตของเธอกำลังสนุกสนานและรายได้ดีในระดับที่เธอพอใจ แต่แล้ววันหนึ่งก็มีเพื่อนที่หมู่บ้านทักมาว่า “สนใจสมัครเป็นผู้ใหญ่บ้านมั้ย มันเหมาะกับเธอนะ” จนนัทชี่ต้องเก็บคำชวนนั้นไปคิด 

     เธอเล่าว่า “นั่งคิดนอนคิดอยู่นาน เรารู้สึกผูกพันกับหมู่บ้านสันคะยอมมาตลอด ชาวบ้านเป็นส่วนหนึ่งที่คอยเลี้ยงดูเรา ไปบ้านไหนเขาก็ให้ข้าวให้น้ำกิน คิดมาตั้งแต่เด็ก ๆ แล้วว่าวันนึงจะกลับมาตอบแทนบุญคุณหมู่บ้าน ประกอบกับการเรียนหนังสือสายที่ทำให้มีแนวคิดเกี่ยวกับพัฒนาสังคมในหัวอยู่ตลอดเวลา ทำให้ตัดสินใจหันหลังให้อาชีพการเงินที่มั่นคง ไปสมัครตำแหน่งผู้ใหญ่บ้าน แม้จะแอบกังวลว่าเราเป็นกะเทย ชาวบ้านจะโอเครึเปล่าที่เราเป็นผู้ใหญ่บ้าน แถมยังไม่ได้มีเงินถุงเงินถังเหมือนผู้สมัครคนอื่น ๆ อย่างไรก็ตาม เราก็ตัดสินใจแล้ว”

     หลังจากเป็นคนเบื้องหลังให้คนอื่นได้ชิงมงมาเยอะแล้ว ด้วยเจตนารมย์ที่แน่วแน่ ครั้งนี้นัทชี่จะเป็นคนชิงมงบ้าง แต่มงของนิชชี่คือมงแม่หลวงบ้าน ซึ่งหมายถึงผู้ใหญ่บ้านที่เป็นผู้หญิง แห่งหมู่บ้านสันคะยอม ไม่ใช่เวทีนางงามอย่างใครเขา

     แม้พกความตั้งใจและความมุ่งมั่นมาอย่างเต็มเปี่ยม แต่ผลคะแนนออกมาเธอกลับได้ที่ 2 โดยแพ้ที่ 1 ไปแค่ประมาณ 20 กว่าคะแนน เป็นอันว่าในรอบแรกนี้เธอชวดมงผู้ใหญ่บ้านไป แต่เธอก็ไม่ได้เป็นคนแพ้ที่ไม่ยอมรับผลหรือตีโพยตีพาย หลังจบการเลือกตั้งเธอก็ยังช่วยกิจกรรมของผู้ใหญ่บ้านคนที่ชนะอยู่เรื่อย ๆ และกลับไปทำงานสปา ซึ่งเป็นงานอีกอย่างหนึ่งที่เธอถนัด

      ชีวิตของเธอดำเนินเรื่อยไป และคงไปได้ดีกับงานสปาเช่นเดิม แต่แล้วก็มีคนในหมู่บ้านมาบอกเธออีกครั้งว่า “ผู้ใหญ่บ้านคนเก่าจะลาออก ยังสนใจที่จะเป็นผู้ใหญ่บ้านอยู่มั้ย” ซึ่งเธอก็นำคำพูดนั้นมาคิดตกตะกอนและลองค้นหาตัวเอง 

     “เราลองคิดดูว่า มีโอกาสเข้ามาแล้วเราจะทำดีไหม ยังมีเจตนารมณ์เหมือนเดิมหรือเปล่า สุดท้ายก็พบว่าเจตนารมย์ต่อหมู่บ้านสันคะยอมของเราไม่แปรเปลี่ยน ยังคงเดิมตั้งแต่จำความได้” 

      นัทชี่เลยตัดสินใจลองสมัครอีกครั้ง ครั้งนี้กลับกลายเป็นว่าการลงสมัครของเธอปราศจากคู่แข่ง ทำให้เธอเข้าสู่รอบตรวจคุณสมบัติ และผลออกมาว่าเธอผ่านในรอบนี้ และได้รับมงผู้ใหญ่บ้านทันที

 

 

     แต่การรับมงของเธอเกิดขึ้นในคริสต์ศักราช 2020 ปีที่เกิดโรคระบาดโควิด 19 เธอรับมงมาแบบไม่มีเวลาฮันนีมูนกับตำแหน่ง ภารกิจใหญ่และยากมากรอเธออยู่ เธอต้องดูแลลูกบ้านในหมู่บ้านสันคะยอมที่มีประชากรทั้งหมด 1,054 คน ตามทะเบียนราษฎร์ แต่มีประชากรแฝงอีกประมาณ 300 คน ซึ่งประชากรแฝงส่วนมากเป็นแรงงานข้ามชาติ รวมเบ็ดเสร็จก็ประมาณ​ 1,400 คน 

     “งานหลักของผู้ใหญ่บ้านคือบำบัดทุกข์ บำรุงสุข” เธออธิบาย

     “ในช่วงการระบาดโควิด 19 เกิดทุกข์โดยภาพรวมอย่างมหาศาล สิ่งที่ต้องทำคือใช้ทั้งระบบออนไลน์และใช้ทั้งการสร้างเครือข่ายของคนในหมู่บ้านในการช่วยกันคุมโรคระบาดให้ได้ เช่น หากใครติดโรคจะดูแลกันอย่างไร ต้องหาที่กักตัว ระบบให้อาหารให้ยาจะจัดการอย่างไร เราต้องช่วยกันหมด การสร้างเครือข่ายของหมู่บ้านจึงสำคัญมาก และต้องพยายามทำให้ตัวเองไม่ติดเชื้อ เพื่อที่จะได้มีกำลังและเวลาในการดูแลคนอื่น ๆ ได้ ในที่สุดโดยความร่วมมือของทุกหน่วยงาน หมู่บ้านสันคะยอมก็กลายเป็นหมู่บ้านที่สามารถควบคุมโควิดได้ดี” 
 

 

      อีกประการคือหมู่บ้านของเธอมีแรงงานข้ามชาติอยู่เกือบ 300 คน และเป็นกลุ่มเปราะบางที่เขาถึงการรักษาได้ยากกว่าคนไทย แต่เธอพยายามจะดูแลคนกลุ่มนี้อย่างมาก เพราะอย่างไรพวกเขาก็เป็นคนในหมู่บ้าน เป็นกำลังสำคัญของหมู่บ้าน และถ้าติดโรคก็ติดกันหมด โรคไม่ได้สนสัญชาติ การดูแลกลุ่มเปราะบางที่เข้าถึงการรักษายากจึงเป็นภารกิจสำคัญที่เธอภูมิใจ

     นัทชี่อยู่กับชาวบ้านโดยเปรียบเสมือนญาติพี่น้องคนในครอบครัวเดียวกันมาตั้งแต่เด็ก ๆ แต่ก็มีบ้างเหมือนกันที่คนในหมู่บ้านบางส่วนตั้งคำถามกับเธอว่าด้วยลักษณะภายนอกที่ดูกลายเป็นผู้หญิงไปแล้ว เพศสภาพนี้จะทำให้เธอทำงานลำบาก

     ตามผลสำรวจของรายงาน Being LGBTI ในบริบทของประเทศไทย ปี พ.ศ. 2561 ซึ่งเป็นการสำรวจระดับชาติที่ใหญ่ที่สุดในประเด็นเพศหลากหลาย ร้อยละ 21 ของหญิงข้ามเพศเปิดเผยบ่อยครั้งว่าถูกโจมตีด้วยคำพูด และ ร้อยลง 61 ของหญิงข้ามเพศเปิดเผยว่าเคยเผชิญกับการถูกเลือกปฏิบัติในสถานที่ทำงาน

     ในกรณีของนัทชี่เองก็เช่นกัน เมื่อเข้ามารับตำแหน่งก็มีคำถามจากชาวบ้านว่า “ถ้าต้องทำงานปกครองแล้วต้องจับโจรผู้ร้าย ตรวจหาสารเสพติด เกิดไฟป่าในหมู่บ้าน ดูแลป่าชุมชน จะทำได้เหรอ การมีเพศสภาพแบบผู้หญิงทำงานแบบนี้มันจะทำให้การทำงานไม่มีประสิทธิภาพ” 

      แต่นัทชี่ก็เลือกที่จะพูดสร้างความเข้าใจและพิสูจน์ตนเองโดยการเลือกใช้เครื่องมือสร้างเครือข่ายที่มีทั้งชาวบ้านและเจ้าหน้าที่หน่วยงานรัฐในการทำงานร่วมกัน 

      เรื่องความปลอดภัยของหมู่บ้าน เธอก็เดินหน้าสร้างมิตรภาพที่ดีกับเพื่อนตำรวจเพื่อที่จะได้ช่วยกันดูแลคนในหมู่บ้านหากเกิดอะไรขึ้น และใช้คนในชุมชนในการถามไถ่ข้อมูล ช่วยกันระมัดระวัง ดูแลป้องกันภัยในเรื่องต่าง ๆ ซึ่งวิธีการพัฒนาหมู่บ้านแบบนิชชี่เป็นวิธีการพัฒนาที่ยั่งยืนเป้าหมายหนึ่ง คือเป้าหมายที่ 11 ที่สนใจการพัฒนาที่ทำให้เมืองและการตั้งถิ่นฐานของมนุษย์มีความปลอดภัยและทั่วถึง โดยในเป้าหมายที่ 11.3 พูดถึงการสนับสนุนการพัฒนาเมืองแบบมีส่วนร่วม ซึ่งเป็นสิ่งที่นิชชี่ยึดมั่นและให้ความสำคัญมาโดยตลอด

      นอกจากนี้ อุปสรรคในเรื่องเกี่ยวกับเพศสภาพของเธอก็ยังมีเรื่อย ๆ เช่น การที่เธอโดนมองว่าเป็นเพศที่อ่อนแอ เพราะเมื่อเธอแก้ปัญหาเรื่องใด ๆ เธอจะลองพูดคุยเพื่อทำความเข้าใจกลุ่มคนที่สร้างปัญหาก่อนว่ามีที่มาที่ไปอย่างไร เพื่อเธอจะแก้ปัญหาให้ถูกจุดตามหลักการวิชาสังคมสงเคราะห์ที่เธอเรียนมา แต่ก็ทำให้มีคนมองว่าเธอไม่เด็ดขาดในการแก้ไขปัญหา 

      มากไปกว่านั้น เธอยังทำงานแบบเน้นฟื้นฟูสภาพจิตใจกลุ่มคนต่าง ๆ เช่น ดูแลจิตใจแรงงานข้ามชาติ หรือดูแลผู้หญิงที่ประสบเหตุการณ์รุนแรงเป็นพิเศษ การทำงานที่ให้น้ำหนักกับสภาพอารมณ์แบบนี้ ทำให้คนบางกลุ่มยิ่งรู้สึกว่าเธอเป็นคนที่สนใจอารมณ์เกินไป ไม่ได้เป็นผู้นำในแบบผู้ชายที่ส่วนมากกล้าตาต่อตาฟันต่อฟัน และเชื่อมโยงว่าพฤติกรรมของเธอมาจากเพศสภาพของเธอที่มีลักษณะตุ้งติ้งแบบผู้หญิง ทำให้เธออ่อนแอ แต่สุดท้ายแล้วตลอด 3 ปีของการทำงานเธอก็สามารถพิสูจน์ให้เห็นว่าเพศสภาพของเธอ และการทำงานที่เน้นความอ่อนโยน รับฟังทุกคน ทำให้หมู่บ้านดีขึ้นได้จริง ๆ
 

 

      ภารกิจแม่หลวงบ้านหรือผู้ใหญ่บ้านของนัทชี่ไม่ได้จบแค่การทำงานบำบัดทุกข์ แต่ยังบำรุงสุขและให้แรงบันดาลใจกับคนอื่น ๆ ด้วย โดยเฉพาะเยาวชนในหมู่บ้าน 

      ผู้ใหญ่บ้านนัทชี่เติบโตกลายเป็นผู้ใหญ่บ้านได้ก็ด้วยในอดีตหมู่บ้านได้เปิดโอกาสให้เด็กคนนึงมีพื้นที่แสดงออกทั้งด้านความคิดเห็นและด้านกิจกรรม นัทชี่จึงกลับมาปัดกวาดพื้นที่สาธารณะ เพื่อเปิดโอกาสให้ทั้งชาวบ้านและเยาวชนร่วมแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับการพัฒนาหมู่บ้าน รวมทั้งมีส่วนในการพัฒนาหมู่บ้านร่วมกันอีกครั้ง 

       ณ ที่แห่งนี้เด็ก ๆ เยาวชนทั้งหมด โดยเฉพาะเด็กผู้หญิงและเด็ก LGBTIQ+ ต่างได้พูดแสดงความคิดเห็นของตนเอง นิชชี่ทราบดีว่า การเปิดโอกาสให้เด็กผู้หญิงและเด็ก LGBTIQ+ ที่อาจจะโดนกีดกันจากกิจกรรมที่เกี่ยวกับการเป็นผู้นำในพื้นที่อื่น ๆ ได้มีโอกาสแสดงความคิดเห็นของตัวเอง ร่วมกันพัฒนาหมู่บ้าน จะช่วยสร้างแรงบันดาลใจ ให้พวกเขาได้ 

       “นัทชี่ทำงานกับลูกสาว เด็กที่มีความหลากหลายทางเพศ” เธอเล่าให้เราฟังยิ้ม ๆ พลางเสริมว่าจะเปิดรูปลูกสาวให้ดู “เราเปิดโอกาสให้เขา ยอมรับในความคิด ความเป็นตัวตนของเขา และส่งเสริมการแสดงออกในทางที่เหมาะสมให้เขา มันทำให้เขาอยากที่จะช่วยเหลือหมู่บ้านก่อน พอได้ทำประโยชน์ก็ทำให้เด็กมีความมั่นใจและภาคภูมิใจในตัวเองมากขึ้น และอยากมีส่วนร่วมกับงานต่าง ๆ ต่อไป”

        เธอคิดเสมอว่าที่ใดไม่มีพลังของเยาวชน ที่นั่นพัฒนาไม่ได้ งานพัฒนาจึงต้องเข้าใจเยาวชนให้มาก ซึ่งการเข้าใจเยาวชนคือการรับฟังพวกเขาให้มากที่สุด และการทำงานตรงนี้ของเธอก็คือการรอเวลาส่งมงผู้นำให้รุ่นถัดไป

        การทำงานกับคนรุ่นใหม่ยังเป็นการสร้างความฝันต่อโลกใบนี้ร่วมกัน โลกที่นิชชี่ฝันถึงและอยากให้เป็น คือการได้เห็นโลกที่คนทุกคนสามารถยอมรับความคิดเห็นที่แตกต่างกันได้ ไม่ตัดสินคนที่เพศสภาพ รสนิยมทางเพศ การแต่งเนื้อแต่งตัว บุคลิกท่าทาง เข้าใจเขาเข้าใจเรา 

        “นัทชี่เชื่อว่าแม้เราจะเห็นต่างกัน แต่ถ้าเราไม่ตัดสินใครไปก่อนจากอคติต่าง ๆ ก็จะไม่มีความขัดแย้งที่รุนแรง และไม่เกิดเหตุการณ์ที่ต้องใช้ความรุนแรงต่อกัน ถ้าคนเรียนรู้เรื่องเหล่านี้ได้ เราก็จะสามารถพูดคุยทำความเข้าใจกันเพื่อแก้ปัญหาต่างๆ ร่วมกันได้”

        การก้าวขึ้นมาเป็นผู้นำชุมชนของ Transgender คนหนึ่ง เป็นบทพิสูจน์ที่ทำให้คนอื่น ๆ เห็นว่า ไม่ว่ามีเพศสภาพแบบใด มีรสนิยมทางเพศแบบใด เราก็สามารถขึ้นมาเป็นผู้นำที่ดีได้ และเด็ก ๆ เยาวชน ไม่ว่าจะเป็นผู้หญิงหรือ LGBTIQ+ ก็สามารถมีส่วนร่วมกับการพัฒนาสังคมในบทบาทของผู้นำในภาคส่วนต่าง ๆ ได้ แม้ว่าทั้งผู้หญิงและกลุ่ม LGBTIQ+ จะยังต้องเจอกับอุปสรรคทั้งทางด้านทัศนคติ รวมทั้งโครงสร้างสังคมและกฎหมายบางประการ แต่สังคมสามารถช่วยกันผลักดันปัญหาการถูกเลือกปฏิบัติอันเนื่องมาจากสาเหตุแห่งเพศสภาพและรสนิยมทางเพศได้ ตามการพัฒนาที่ยั่งยืน เป้าหมายที่ 5 ที่สังคมจะต้องร่วมกันบรรลุความเสมอภาคระหว่างเพศ ซึ่งสอดคล้องพอดีกับสิ่งที่นิชชี่กำลังทำในหมู่บ้านของเธอ

       “แม่ หนูรู้แล้วว่าอยากเป็นผู้ใหญ่บ้านเหมือนแม่” 

        นี่เป็นประโยคที่นักเรียนผู้มีความหลากหลายทางเพศเดินตรงเข้ามาบอกนัทชี่ เมื่อเธอไปบรรยายที่โรงเรียนแห่งหนึ่ง

        และเป็นประโยคที่ทำให้เราแน่ใจแล้วว่า ตลอดการทำงานเป็นผู้ใหญ่บ้านของเธอ เธอไม่เพียงแต่พิสูจน์ตัวเองให้ชาวบ้านไว้ใจว่าเธอทำได้ แต่เธอได้จุดประกายให้เด็ก ๆ ที่เป็นเหมือนเธอ เห็นภาพตัวเองทำงานเพื่อสังคมรอบข้าง และเห็นความเป็นไปได้มากมายสำหรับบทบาทอาชีพในอนาคต

        แม้ว่าตนจะเป็นคนธรรมดาที่ถูกเป็นกีดกันเป็นชายขอบของสังคมในหลายครั้งก็ตาม