โลกสีครามกับการพัฒนาที่ยั่งยืนของ หมิว พรพิมล มิ่งมิตรมี

November 28, 2023

      

      หมิว-พรพิมล มิ่งมิตรมี เกิดและเติบโตที่หมู่บ้านหนองส่าน อำเภอภูพาน จังหวัดสกลนคร ซึ่งเป็นแหล่งผลิตครามที่มีชื่อเสียง ชีวิตของหมิวจึงเปรียบเสมือนกับการเกิดและเติบโตในโลกสีคราม

      หมิวโตมาในหมู่บ้านที่เต็มไปด้วยต้นคราม การผลิตคราม มัดย้อมผ้า เธอหลงใหลในสีธรรมชาติ รวมถึงแนวคิดวิทยาศาสตร์ เพราะกว่าจะได้ผ้าครามธรรมชาติสีสันสดใสของสกลนครมา ต้องอาศัยทั้งธรรมชาติ ศิลปะ และองค์ความรู้ด้านปฏิกิริยาเคมีในการสกัดครามออกมา

      เพราะเหตุนั้น เมื่อเข้าเรียนในระดับมหาวิทยาลัย เธอจึงเลือกเรียนที่มหาวิทยาลัยศิลปากร ในคณะวิทยาศาสตร์ ซึ่งก็ไม่ใช่คณะวิทยาศาสตร์จ๋า ๆ อย่างที่ใครเข้าใจ แต่เป็นการเรียนวิทยาศาสตร์ที่เกี่ยวข้องกับการอนุรักษ์ศิลปกรรม ต้องใช้ความรู้องค์รวมทั้งหมด ทั้งทางวิทยาศาสตร์ ศิลปะ และการใช้สีธรรมชาติที่ได้จากพืช สีแร่ สีดิน สีหิน ต้องใช้การเข้าใจประวัติศาสตร์เพื่อการอนุรักษ์และบูรณะศิลปะในวัดวาอาราม โบราณสถานต่าง ๆ 

      จากความหลงใหลในสีธรรมชาติ บวกกับองค์ความรู้จากบ้านเกิดที่ทำคราม และจากการเรียนมหาวิทยาลัย หมิวเลือกที่จะต่อยอดองค์ความรู้ไปอีกขั้นด้วยการเลือกไปเรียนต่อที่อินเดีย 

      “ไปเรียนที่อินเดีย เราจะเรียนกับช่างที่เขาทำเรื่องสีโดยเฉพาะเลย ไปเรียนวิธีการเคี่ยวสี เตรียมสี เพื่อที่สำหรับพิมพ์ผ้า ทำเป็นแบบที่เรียกว่า Block Print” หมิวอธิบาย

        เมื่อเรียนจบหมิวก็ตัดสินใจกลับบ้านเกิดที่หมู่บ้านหนองส่าน อำเภอภูพาน จังหวัดสกลนคร เพื่อทำงานกับชุมชน อย่างไรก็ตาม เธอไม่ได้มาพร้อมกับความฝันสวยหรูในเรื่องการพัฒนาชุมชน แต่เธอมาเพื่อพิสูจน์ตัวเอง 

        “เราไม่ได้คิดว่าเราจะไปช่วยชีวิตใคร ไม่เคยมีความคิดว่าจะเสียสละเงินเดือนเป็นแสนเพื่อกลับมาพัฒนาหมู่บ้าน ครั้งแรกที่กลับบ้านคือเอาตัวเองให้รอด เพราะถ้าเกิดเราเอาตัวเองไม่รอด เราจะไม่มีหน้าไปบอกใครเลยว่า ให้กลับมาบ้านสิ มาทำสิ่งนี้สิ ถ้าเรายังไม่มีรายได้ เราอยู่ไม่ได้จริง ๆ” เธออธิบาย

        “ครั้งแรกมันเลยเกิดขึ้นเพราะเราจะพิสูจน์ตัวเองว่าเราจะอยู่บ้านที่ต่างจังหวัด อยู่ในอำเภอเล็ก ๆ ให้ได้ โดยมีรายได้ที่เยอะกว่าอยู่กรุงเทพฯ เราเอาตัวรอดได้แล้ว เราจึงสามารถทำให้คนรอบข้างในชุมชนเขามีรายได้เพิ่มขึ้นได้ 

        “ถ้าคนเราท้องไม่อิ่ม ไม่ต้องไปนึกเลยว่าชีวิตเขาจะมองเรื่องการแก้ปัญหา การพัฒนา Sustainability (ความยั่งยืน) แก้ไขขยะหรืออะไรก็ตามแต่ มันจะไม่เกิด เขาจะมองไม่เห็น”

        การกลับบ้านในครั้งนี้สิ่งแรกที่หมิวสนใจจึงเป็นการพยายามหาศักยภาพและช่องว่างของชุมชนว่าเธอจะสามารถพัฒนาต่อยอดอะไรได้บ้าง 
 

     

     “เราสนใจว่าถ้ากลับไปอยู่บ้าน แล้วเราจะทำงานอะไรยังไงได้บ้าง หลังจากที่เราอยู่บ้าน เราก็เห็นว่างานผ้าในหมู่บ้านมีการเติบโตเยอะมาก มันมี Demand และ Supply ในหมู่บ้านสูงมากอยู่แล้ว แต่ว่าสิ่งที่มันเกิดขึ้น มันมีขยะที่มันเกิดจากเส้นใยอยู่เยอะมาก

      จากการสังเกตว่าในหมู่บ้านเต็มไปด้วยเศษผ้าสีคราม และจากเศษผ้าเหลือทิ้งซึ่งเหลือจากการทำเสื้อผ้าย้อมคราม หมิวก็คิดว่าจะทำอย่างไรกับเศษผ้าจำนวนมากเหล่านี้ดี เธอจึงคิดไอเดียขึ้นในมาได้  

      “ในตอนที่ไปเรียนที่อินเดีย มันมีหมู่บ้านที่เขาทำกระดาษอยู่ใกล้ ๆ หมู่บ้านที่เราเคยอยู่ เราเคยไปดูเขาทำครั้งนึง ที่นั่นเขาก็ใช้ผ้าเส้นใยฝ้ายรีไซเคิล ซึ่งมาจากโรงงานอุตสาหกรรมเส้นใยเหมือนกัน ก็เลยคิดขึ้นมาว่าถ้าบ้านเราเอาเศษผ้ามาทำกระดาษวาดรูปในคุณภาพเดียวกันกับที่อินเดียทำได้ก็คงจะดี เพราะว่ากระดาษที่อินเดีย ผิวสัมผัสมันจะเป็นกระดาษใยฝ้าย ซึ่งเป็นกระดาษวาดรูปสีน้ำเกรดอาร์ติสที่ดีที่สุดในโลก ถ้าเราเอาเศษผ้าที่บ้านมาทำเป็นกระดาษเหมือนกัน มันคงมีมูลค่าเพิ่มได้” 

        จากนั้นการเดินทางกลับไปอินเดียอีกครั้งเพื่อเรียนทำกระดาษจึงเกิดขึ้น

        ประสบการณ์จากอินเดียทำให้เธอพบว่า เครื่องไม้เครื่องมือในการปั่นเส้นใยเพื่อทำกระดาษในหมู่บ้านไม่ได้สมบูรณ์พร้อมมากนัก เธอจึงต้องปรึกษากับกลุ่มคนหลาย ๆ ฝ่าย เพื่อพัฒนาการทำกระดาษ

       “เราไปถามอาจารย์มหาลัยมาบ้างว่าจะย่อยฝ้ายยังไง เพราะมันต่างกันตรงที่ผ้าของอินเดียเขาบางแล้วเขาทอโรงงาน เส้นใยมันก็จะเล็กกว่า แต่ผ้าบ้านเราเป็นผ้าขึงมือ ดึงเส้นด้วยมือ และทอมือ มันจะหนาและมีผิวสัมผัสที่เรียบไม่เท่าของอินเดีย พอไปหาอาจารย์ก็เลยได้รู้ว่าต้องใช้จุลินทรีย์ในท่อน้ำทิ้ง เพื่อให้ไปย่อยเส้นผม ย่อยฝ้าย และได้วิธีการมาทำกระดาษแบบที่เป็นธรรมชาติอย่างที่เราต้องการมา”

       นอกจากนี้เธอยังได้มีโอกาสไปรู้จักกับเจ้าของโรงงานเส้นใยผ้าเจ้าหนึ่ง ซึ่งเธอได้ปรึกษาเขาว่า ถ้าส่งผ้าเก่าเราไปรีไซเคิลให้เป็นเส้นใยใหม่ จะสามารถทำได้ไหม ทางโรงงานก็ตอบมาว่าทำได้ ทั้งยังใช้เชื้อเพลิงและน้ำน้อยกว่าการผลิตเส้นใยใหม่เยอะมาก 

      โชคดีที่เจ้าของโรงงานเองก็มีความสนใจในเรื่องของการรีไซเคิลผ้าเก่าอยู่แล้ว จึงได้ร่วมมือกันทำเรื่องเส้นใยรีไซเคิลขึ้นมา จึงเกิดผลิตภัณฑ์เป็นกระดาษที่มาจากเศษผ้าในหมู่บ้านตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา

      การนำเศษผ้าเหลือใช้ซึ่งเมื่อก่อนคือเศษขยะจำนวนมหาศาลในหมู่บ้านมารีไซเคิล เป็นกระบวนการที่สอดคล้องกับการพัฒนาที่ยั่งยืนเป้าหมายที่ 12 ที่สนับสนุนการผลิตและการบริโภคที่ยั่งยืน ซึ่งสนใจกระบวนการผลิตที่เกี่ยวข้องกับการลดขยะ การนำสิ่งของมารีไซเคิลเพื่อใช้ใหม่ 

      กระบวนการนี้ได้ถูกระบุเพิ่มเติมเอาไว้ในเป้าหมายที่ 12.8 อธิบายว่าการพัฒนาที่ยั่งยืนสนับสนุนการลดการเกิดของเสียโดยให้มีการใช้ซ้ำ และการนำกลับมาใช้ใหม่ให้มากที่สุด

      หมิวบรรยายว่า “ในเดือนหนึ่งจะมีเศษผ้าครามในหมู่บ้านอยู่ที่ประมาณ 100 กิโลกรัม เป็นเศษผ้าเล็ก ๆ ที่คนจะนำไปทิ้ง และทำให้มูลค่าของเศษผ้าตรงนี้เป็นศูนย์และส่งผลกับสิ่งแวดล้อมด้วย แต่เมื่อเอามาปั่นเป็นกระดาษ เศษผ้าที่จะกลายเป็นขยะก็มีมูลค่าขึ้นมาได้ และยังช่วยลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมด้วย”

      “ถ้าเราเอามาปั่นเป็นกระดาษ เราสามารถทำให้มันมีมูลค่าขึ้นมาได้ อย่างกระดาษแค่ A4  กระดาษวาดรูป 20 แผ่น ก็ราคา 600-700 บาท อันนี้คือมูลค่าที่มันเกิดขึ้นจากเศษผ้า” เธอคำนวณให้เราฟัง 

       “เคยทดลองดู ถ้าเอาเศษผ้า 30 โลไปปั่นเป็นเส้นใย มี Waste (ขยะหรือเศษอื่น ๆ ที่เหลือจากการปั่นผ้า)น้อยมากเลยค่ะ มันได้กลับมาเกือบอีก 30 กว่าโล ซึ่ง สามารถทอผ้าได้ทั้งหมด 39 เมตร ซึ่ง 39 เมตรตัดเสื้อเพิ่มได้อีก ตัวละ 2 เมตร ตก 15 ตัว เท่ากับเสื้ออีก 15 ตัวที่มันไม่ได้ถูกทิ้ง”

      

       นอกจากเศษผ้า หมิวยังรักในวิถีชีวิตของชุมชนตนเอง และเห็นศักยภาพในการพัฒนาชุมชนให้เป็นแหล่งเรียนรู้วิถีชีวิตและการทำผ้ามัดย้อมครามให้กับคนนอกพื้นที่ที่สนใจ จึงได้ทำการท่องเที่ยวชุมชนบ้านหนองส่านขึ้น 

      “เราดึงศักยภาพหมู่บ้านของเราขึ้นมาสร้างสรรค์ให้มันเป็นเส้นทางการท่องเที่ยวที่เน้นให้นักท่องเที่ยวมีประสบการณ์ร่วมกับคนในหมู่บ้าน มีการทำผ้า ย้อมผ้า เข้าป่า เก็บอาหารท้องถิ่นมาทำกับข้าว” หมิวอธิบายโมเดลการท่องเที่ยวชุมชนบ้านหนองส่าน

      “หมิวลองสื่อสารกับคนภายนอกด้วยการใช้โซเชียลมีเดีย ว่าเราจะออกแบบการท่องเที่ยวแบบนี้ออกมา เพราะว่าเท่าที่เห็นส่วนใหญ่ก่อนหน้านี้จะเป็นผู้ประกอบการรายเดี่ยว เป็นโฮมสเตย์ เป็นแคมป์ปิ้ง แต่ว่าเราอยากให้มันเกิดขึ้นแบบมีชุมชนเข้ามาเกี่ยวข้อง มีคนเข้ามาแลกเปลี่ยนเรียนรู้กันระหว่างคนพื้นถิ่นกับคนต่างถิ่น”

       การพัฒนาท่องเที่ยวชุมชนยังเป็นการทำให้ศักยภาพของป้า ๆ แม่ ๆ ซึ่งเป็นคนตั้งแต่วัย 40 ถึง 50 ปีขึ้นไปในชุมชน ได้เฉิดฉายให้กับคนต่างถิ่นได้รับรู้และซึมซับร่วมกันว่า วิถีชีวิตเชิงเกษตรกรรมแบบคนหนองส่าน และภูมิปัญญาการทำครามซึ่งเป็นภูมิปัญญาท้องถิ่นที่มีค่านั้นมีกระบวนการอย่างไร 

 

      กลุ่มผู้หญิงในชุมชนเป็นกลุ่มหลักที่ขับเคลื่อนกิจกรรมการท่องเที่ยวชุมชน เพราะผู้ชายในชุมชนต้องใช้เวลาไปกับการทำงานแรงงานนอกบ้าน

      การพัฒนาท่องเที่ยวชุมชนตามโมเดลนี้ยังเป็นการพัฒนาที่สอดคล้องกับการพัฒนาที่ยั่งยืนเป้าหมายที่ 5 นั่นคือการบรรลุความเสมอภาคระหว่างเพศ และเป้าหมายที่ 8 การส่งเสริมการเติบโตทางเศรษฐกิจที่ต่อเนื่อง ครอบคลุม ยั่งยืน และการสนับสนุนการมีงานที่สมควรสำหรับทุกคน

      การท่องเที่ยวชุมชน นอกจากสร้างความภูมิใจให้กับผู้หญิงในชุมชน และให้ความรู้กับบุคคลต่างถิ่นแล้ว ยังทำรายได้เข้าสู่ครัวเรือนของคนในชุมชนมากขึ้น เพราะส่วนมากคนในชุมชนเป็นเกษตรกรเกือบ 100% รายได้ต่อปีก็ขึ้นอยู่กับผลผลิตรายปี ซึ่งได้ประมาณปีละ 20,000-30,000 ต่อปี แต่พอมีการท่องเที่ยวชุมชนเข้ามา พวกเขาก็มีเงินในระหว่างปีเพิ่มขึ้น 

      “ปกติแล้ว ชาวบ้านจะต้องใช้เงินรายปีที่ขึ้นอยู่กับการเก็บเกี่ยวพืชผลทางการเกษตรในการจัดการค่าใช้จ่ายลูก ค่าใช้จ่ายในบ้าน ใช้หนี้ค่าปุ๋ย ไม่มีเงินรายย่อยเข้ามา ค่าใช้จ่ายทุกอย่างจะถูกจัดการด้วยเงิน 1 ก้อน แต่พอมีการท่องเที่ยวชุมชนเข้ามา เขาจะมีรายได้เป็นอาทิตย์บ้าง เดือนบ้าง พอซอยย่อยมากขึ้นก็ทำให้การจัดการรายได้ของเขาค่อนข้างเสถียรมากขึ้น และเป็นหนี้น้อยลง” 

      รายได้ที่เพิ่มมากขึ้นจากการส่งเสริมการท่องเที่ยวชุมชนยังสอดคล้องกับการพัฒนาที่ยั่งยืนเป้าหมายที่ 1 ที่ส่งเสริมการยุติความยากจนทุกรูปแบบในทุกที่

                                                                                            —

     แม้การกลับบ้านเกิดมาทำงานกับชุมชนของหมิวจะประสบความสำเร็จไปได้ดีในปัจจุบัน แต่กว่าจะมาถึงจุดนี้ ทุกอย่างไม่ได้โรยด้วยกลีบกุหลาบ และมีอุปสรรคอยู่มากมาย

     “อุปสรรคนี่มันแน่นอนอยู่แล้ว มีเยอะมาก หันกลับไปมองอีกทีมันกลายเป็นเรื่องตลกไปแล้ว แต่ตอนที่เจอจริง ๆ ก็เหนื่อยมาก” เธอย้ำ “อุปสรรคเป็นเรื่องของความต่างเจนฯ ที่มีความเชื่อและประสบการณ์ต่างกัน มองกันคนละเรื่อง”  
แต่การกลับบ้านเกิดมาทำงานชุมชนมันไม่ใช่แค่การยึดตัวเองเป็นศูนย์กลาง หรือการเอาความปรารถนาดีของตัวเองลงมาโดยไม่แคร์ความคิดคนอื่น ๆ ในชุมชน

      ถ้าหากมีอะไรแนะนำถึงคนที่อยากกลับบ้านเกิดแล้วลงมือพัฒนาชุมชนของตนเองได้สักอย่าง เธออยากแนะนำว่า “การมาทำงานกับชุมชนไม่ใช่ชีวิตในฝัน แต่เป็นงานที่เหนื่อย เพราะเราแบกความคิดของตัวเอง ความฝันของตัวเอง แล้วเรากำลังจะเอาความฝันอันนี้ไปให้คนอื่นถือด้วย ซึ่งเราไม่รู้ว่าคนที่เราไปทำงานกับเขาจะเห็นสิ่งเดียวกับเราด้วยหรือเปล่า”

      “เพราะฉะนั้นหน้าที่เลยก็คือ จะทำยังไงให้ความเชื่อนี้ไปด้วยกันได้ โดยไม่ยึดตัวเองเป็นศูนย์กลาง และมองว่าความเชื่อของชาวบ้านเป็นสิ่งที่ผิด ถ้าชาวบ้านเขาไม่ได้อินกับเรา เช่น ไม่ได้อินกับแพทเทิร์นผ้าที่เราออกแบบ มันก็ไม่ใช่ความผิดของเขา การเอาความคิดของเราไปยัดให้ชาวบ้าน บางทีมันก็เป็นการกระทำที่ไม่มี Empathy (ความเห็นอกเห็นใจ) กับคนอื่นเลย”

 

      “การทำงานกับชุมชนเราต้องทำความเข้าใจกับตัวเองก่อน” หมิวแนะนำต่อ “สมมติเรามีเครื่องมืออะไรสักอย่างอยู่ในเป้ แล้วเราอยากจะทำงานสิ่งนี้ เราต้องดูด้วยว่าพาร์ทเนอร์ซึ่งก็คือคนในชุมชนของเรา เขามีอะไรในเป้ด้วยเหมือนกัน มันถึงจะเกี่ยวโยงไปด้วยกัน มันไม่ใช่ว่าจะไปโยนความคิดตู้ม ๆๆๆ ของเราให้เขารอรับฝ่ายเดียว”

       “การทำงานกับชุมชนในแบบของเราคือ การที่เราต้องทำให้เขาเห็นก่อนว่าเราทำได้ จากนั้นก็มาแชร์ความคิดกัน โดยไม่คิดว่าใครต้องเป็นผู้ให้ ใครต้องเป็นผู้รับ ทุกคนแบ่งปันความคิดกัน และถ้าเราทำตามแพสชันตัวเองสำเร็จ และได้รับโอกาสจากการงานที่เราทำ เราก็สามารถแชร์โอกาสนั้นกับแม่ ๆ ป้า ๆ ในชุมชนได้ด้วย ให้เขามีรายได้ไปด้วยกัน”

        ธุรกิจที่ยั่งยืนของหมิวก็คือธุรกิจที่คิดถึงคนรอบข้าง และเมื่อเป็นการทำงานกับชุมชน สิ่งสำคัญที่สุดก็คือการจับมือเดินไปพร้อม ๆ กับผู้คนหลายภาคส่วน ซึ่งตรงกับการพัฒนาอย่างยั่งยืน หรือ SDGs เป้าหมายที่ 17 นั่นคือการเสริมความเข้มแข็งให้แก่กลไกการดำเนินงานและฟื้นฟูสภาพหุ้นส่วนความร่วมมือระดับโลกสำหรับการพัฒนาที่ยั่งยืน

        เป้าหมายสุดท้ายนี้ถือเป็นเป้าหมายสำคัญ หากไม่มีข้อนี้ ข้ออื่นก็ไม่อาจสำเร็จลุล่วงไปได้เลย
เมื่อมาถึงคำถามที่ว่า ฝันเห็นโลกเป็นยังไง เธอก็ให้คำตอบอย่างเป็นตัวเองที่สุด

        “คนทุกคนไม่ควรมองแค่ว่าตัวเองจะเข้ามาพัฒนาอะไร อย่าเห็นว่าตัวเองเป็น God (พระเจ้า) ที่จะมาตัดสินถูกผิดเกี่ยวกับการพัฒนา แต่ต้องรับฟังคนอื่น ๆ ด้วย โดยเฉพาะคนในชุมชน 

        “โลกที่ดีสำหรับหมิว เอาแค่ทุกคนสามารถกินอิ่มนอนหลับ ท้องอิ่ม เดี๋ยวความงดงามอื่น ๆ มันจะมาเอง”