‘ปฏิญญาอ่าวลันตา’ ความร่วมมือครั้งสำคัญของชาวเกาะที่สร้างบรรยากาศฮึกเหิมแห่งการพัฒนารอบด้าน

December 6, 2023

 

      กาลครั้งหนึ่งในลันตา หมู่เกาะทางทิศใต้ของจังหวัดกระบี่ มีเด็กชาย 2 คน ลืมตาดูโลก และเติบโตในหมู่เกาะนั้น
อำเภอเกาะลันตามีเนื้อที่รวม 220,000 ไร่ มีเกาะทั้งหมด 53 เกาะ เกาะที่ผู้คนอาศัยอยู่มีทั้งหมด 6 เกาะ และมีเกาะใหญ่ ๆ ทั้งหมด 3 เกาะ คือ เกาะกลาง เกาะลันตาน้อย และเกาะลันตาใหญ่

      สองเด็กชายเล่าว่า ลันตาในอดีตเป็นชุมชนแสนสงบ อุดมสมบูรณ์ไปด้วยทะเล ป่าไม้ พืชพันธุ์ธัญญาหาร ผู้คนที่นี่ใช้การสัญจรทางน้ำเป็นหลัก และด้วยความที่เป็นหมู่เกาะห่างไกลจากแผ่นดินใหญ่ หลายชุมชนก็เลือกจะปลูกข้าวกันเอง จึงมีไร่นากระจายอยู่ทั่วเกาะ ด้านสังคมก็อบอุ่น อยู่รวมกันได้ไม่ว่าชาติพันธุ์-ศาสนาไหน มีทั้งไทยพุทธ มุสลิม จีน และชาวเลที่อาศัยอยู่ร่วมกันอย่างสันติ จนเมื่อประมาณช่วงปี 2530 เป็นต้นมา ลันตากลายเป็นสถานที่ท่องเที่ยวและเกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว

      ทั้งคู่โตขึ้นมาเป็นกำลังสำคัญของพี่น้องชาวเกาะ

      คนแรกคือ โอ๊ะ-ธีรพจน์ กษิรวัฒน์ ที่ปรึกษาสมาคมธุรกิจการท่องเที่ยวเกาะลันตา และที่ปรึกษาสมาคมท่องเที่ยวโดยชุมชน จังหวัดกระบี่ ส่วนคนที่ 2 คือ นราธร หงษ์ทอง อุปนายกสมาคมท่องเที่ยวโดยชุมชน จ.กระบี่

      “มีหลายเหตุผลที่ทำให้ผมมาทำงานท่องเที่ยว แต่เหตุผลใหญ่ ๆ คือ เราอยากใช้ชีวิตให้มีความสุขในบ้านของเราเอง” นราธรเล่า ผลงานสำคัญของเขาก็คือการพัฒนาวิสาหกิจชุมชนท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ที่ ‘ทุ่งหยีเพ็ง’ ชุมชนเล็ก ๆ ในเกาะลันตาใหญ่ 

      “ถ้าในวันข้างหน้ามันเต็มไปด้วยความวุ่นวาย การแข่งขัน ชีวิตบั้นปลายของเราไม่น่าจะมีความสุข แล้วผู้คนก็อาจจะขายที่แล้วทิ้งถิ่นฐานไปอยู่ที่อื่น

      “มันคือความห่วงใยในเกาะของตัวเอง” เขากล่าวยิ้ม ๆ

       นราธรเล่าว่า เมื่อถึงยุคเปลี่ยนผ่าน ที่ดินก็เริ่มเปลี่ยนมือ ไร่นาที่ชาวบ้านเคยปลูกข้าวกินเอง ก็เริ่มมีคนมาขอซื้อไปทำนากุ้งแทน เกาะลันตาที่เคยปลูกข้าวกินเองก็หายไป

       เศรษฐกิจของเกาะลันตาเริ่มเปลี่ยนไปพร้อม ๆ กับการท่องเที่ยวที่เริ่มเข้ามา ผู้คนเริ่มเปลี่ยนผันการหารายได้ จากที่ทำการเกษตรเป็นหลักก็ไปทำเรื่องการท่องเที่ยว ธีรพจน์มองว่าลันตาไม่ควรหวังให้การท่องเที่ยวเป็นรายได้หลักเพียงอย่างเดียวเพราะความเหลื่อมล้ำจะเกิดขึ้น กลุ่มที่ไม่ได้ทำการท่องเที่ยวก็จะขาดโอกาส กลายเป็นว่ามีคนจนมากมาย

       สิ่งที่ควรทำจริง ๆ ก็คือการผลักดันให้เมืองเติบโตไปพร้อมกันทั้งเมือง เพื่อให้ชาวลันตามีคุณภาพชีวิตที่ดี และเมืองมีคุณค่าในตัวเอง

      หลังจากที่ไปทำเรื่องการท่องเที่ยวในพื้นที่อื่นมานาน ปี 2546 นราธรก็เข้ามาพัฒนาบ้านเกิดของตัวเอง โดยมองภาคการเกษตรและการค้าขายของชาวบ้านเป็นหลัก แล้วเติมภาคการท่องเที่ยวเข้าไปช่วยส่งเสริม

      “สมัยก่อนที่แม่ผมมาอยู่ ญาติพี่น้องก็รู้สึกว่าแม่ผมมาลำบาก ถ้าเป็นข้าราชการ ใครย้ายมาอยู่ลันตาคือถูกลงโทษ” ธีรพจน์เล่า 

       ในสายตาของคนนอก เมื่อก่อนลันตาไม่ได้อยู่ได้อย่างสะดวกสบายนัก

       “แต่วันนี้ลันตากลายเป็นเมืองที่มีโอกาส มีการท่องเที่ยวเข้ามา ถ้าเรามองไม่เห็นโอกาสนั้น เราจะปล่อยให้เมืองพัฒนาไปตามยถากรรม โอกาสของเมืองดี ๆ ก็จะหายไป วันหนึ่งเราก็จะพบว่าเรามีชีวิตอยู่ท่ามกลางเมืองมลพิษที่วุ่นวาย ถ้าเราจัดการให้ดี เราจะเห็นเมืองที่ดีมากเมืองหนึ่งในอนาคต 

       “ถ้าเราเริ่มทำ จะพบว่ามีคนมองเห็นเหมือนกับเรา และพร้อมจะร่วมใช้ทักษะความสามารถของเขามาเชื่อมโยงทั้งคนในและนอกพื้นที่”

        ตัวแปรหนึ่งที่สำคัญมาก ๆ คือปัจจุบันรัฐบาลกำลังมีโครงการสร้างสะพานยาวประมาณ 2 กิโลเมตร เชื่อมเกาะลันตาจากฝั่งตำบลเกาะกลาง ข้ามมาที่ตำบลลันตาน้อย หากสะพานเสร็จจะรองรับนักท่องเที่ยวให้เข้ามาอีกไม่รู้กี่คนต่อกี่คน ผลที่ตามมาคือเรื่องเศรษฐกิจที่อาจดีขึ้น แต่ในขณะเดียวกันก็ต้องเฝ้าระวังเรื่องความทรัพยากรธรรมชาติ สิ่งแวดล้อม และการอนุรักษ์วิถีถิ่นมากกว่าเดิม 

        ชาวลันตาเห็นตรงกันว่า หากคิดจะออกนโยบายเพื่อการพัฒนาเมือง ก็ต้องเตรียมตัวก่อนที่สะพานจะเสร็จในอีก 4 - 5 ปีข้างหน้า

        นับเป็นโชคดีของลันตาที่คนในมีไฟพร้อมร่วมด้วยช่วยกัน ประจวบเหมาะกับที่นายอำเภอเกาะลันตาคนใหม่แพสชันเต็มเปี่ยม และตื่นตัวเรื่องการสร้างสะพานอย่าง นพรัตน์ ศรีพรหม เข้ารับตำแหน่ง ทุกคนจึงเริ่มคิดว่า ถึงเวลาแล้วที่เกาะลันตาแห่งนี้จะมี ‘เครื่องมือ’ บางอย่างที่ช่วยจัดการเรื่องความยั่งยืน ไม่ว่าจะเรื่องสังคม เศรษฐกิจ หรือสิ่งแวดล้อม

        25 เมษายน 2566 ‘ปฏิญญาอ่าวลันตา’ ก็ถือกำเนิดขึ้นมาอย่างเป็นทางการ 

        ไม่ใช่เรื่องง่ายที่การเปลี่ยนแปลงจะเกิดขึ้นได้ แต่ก็เกิดขึ้นกับลันตา

        ลันตาเป็นอำเภอที่มีหน่วยงานพากันเข้ามาทำงานในพื้นที่เยอะอยู่แล้ว แต่ธีรพจน์บอกว่า จุดแข็งของท่านนายอำเภอคือการวางแผนงานเชิงยุทธศาสตร์ ซึ่งวิธีในครั้งนี้คือ ‘การจัดเวทีพูดคุย’ เชิญภาคส่วนต่าง ๆ ทั้งประชาชน องค์กรส่วนท้องถิ่น เครือข่ายวิชาการ และ NGO มาเข้าร่วม ทำให้เกิดการมีส่วนร่วมและการกระจายข้อมูล สุดท้ายแล้วจึงมีถึง 48 หน่วยงานมาร่วมกันร่างปฏิญญาที่ดีที่สุด

         ปฏิญญามีเป้าหมายทั้งหมด 9 ข้อ 

     1. การทำประมงยั่งยืน
    2. การอนุรักษ์ฟื้นฟูทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง
    3. การพัฒนาเศรษฐกิจสีเขียวและเศรษฐกิจเกื้อกูล
    4. การท่องเที่ยวที่ยั่งยืน
    5. การเชื่อมโยงการพัฒนาทางเศรษฐกิจกับชุมชนท้องถิ่น
    6. การลดภัยคุกคามจากไมโครพลาสติกและขยะพลาสติกในทะเล
    7. การเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงาน และการเปลี่ยนผ่านจากพลังงานไฟฟ้าที่ผลิตจากฟอลซิลไปสู่พลังงานสะอาด
    8. การพัฒนาทางสังคมและคุณภาพชีวิต
    9. การส่งเสริมการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน                                                                                                                                              

       จริง ๆ แล้ว การพัฒนาเมืองในด้านต่าง ๆ ก็เป็นสิ่งที่เกาะลันตาพยายามทำอยู่ตลอดมา หากปฏิญญาเป็นเหมือนการประกาศกร้าว สร้างบรรยากาศ สร้างการรับรู้ให้ทุกภาคส่วนทราบโดยทั่วกันว่าลันตาจะพัฒนาไปในทางไหน และพร้อมจะจับมือไปด้วยกัน 

       ครั้งนี้ลันตาไม่ได้มาเล่น ๆ

 

     ประเด็นที่เป็นเหมือนหัวใจของปฏิญญาก็คือเรื่องสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะเรื่อง ‘ขยะ’ ซึ่งจากเดิมลันตามีปัญหาขยะล้นหลุมฝังกลบ

     การจัดการขยะเป็นสิ่งสำคัญ ถ้าขยะติดเชื้อมีระบบจัดการที่ไม่ดี เชื้อก็จะกระจาย ถ้าขยะเป็นพิษมีระบบจัดการที่ไม่ดี ก็จะเกิดอันตราย ถ้าหลุมฝังกลบมีขยะมากเกินไป ก็จะเกิดมลพิษวนเวียนอยู่ในพื้นที่ น้ำเสีย ดินเสีย และส่งผลกระทบต่อสุขภาพคนในที่สุด

     เกาะลันตามีขยะจาก 3 แหล่ง หนึ่ง คือขยะจากชุมชน สอง คือขยะจากนักท่องเที่ยว สาม คือขยะทะเลที่มาในช่วงมรสุม ซึ่งในช่วงที่ผ่านมาลันตาก็จัดการได้ดี ต้องยกเครดิตให้สถาบันสิ่งแวดล้อมไทยที่เข้ามาช่วยเหลือ 

     ทั้งสามเล่าว่า ลันตามีทั้งแนวคิดชุมชนไร้ถัง จัดการขยะตั้งแต่ต้นทางเพื่อส่งไปยังที่ที่ถูกต้อง และอบรมให้ผู้คนใน 36 หมู่บ้านในเกาะลันตาเข้าใจ ชุมชนไหนทำได้ดีก็จะมีอัตราการเป็นไข้เลือดออกน้อยลง มีการทำ Waste Station สถานีคัดแยกขยะเมื่อมีการจัดงาน มีศูนย์ลันตาพลัส นำฝาขวดพลาสติกไปทำเป็น Upcycling Product มีการจัดคู่โรงแรม-ร้านอาหารกับฟาร์มเป็ดไก่ เพื่อส่งต่อเศษอาหาร มีการร่วมมือกับบริษัทรีไซเคิลอย่างวงศ์พาณิชย์ และมีกลุ่มลันตารีไซเคิลที่รับซื้อของเก่า

     “การทิ้งขยะกระจายไปทั่วจะเอื้อให้เกิดขยะไมโครพลาสติกที่มองไม่เห็น แต่อยู่ในป่า บนภูเขา วันหนึ่งที่โดนน้ำฝนชะก็จะเข้าไปอยู่ในแหล่งน้ำ และเกิดการปนเปื้อน” ธีรพจน์บรรยายให้เราเห็นภาพ

     “ในอดีตการแก้ไขปัญหาขยะไม่ถูกวางให้เป็นแผนยุทธศาสตร์ของเมือง แต่ละท้องถิ่นจัดการของใครของมัน พอมีปฏิญญาอ่าวลันตาก็ทำให้ทุกส่วนมองเห็นปัญหาที่จะเกิดขึ้นในอนาคต และเริ่มจัดการร่วมกัน”

       การขับเคลื่อนเรื่องสุขภาพ ก็ถือเป็น SDGs เป้าหมายที่ 3 ที่เกี่ยวกับการส่งเสริมคุณภาพ-ความเป็นอยู่ที่ดีของทุกคน และเป้าหมายที่ 6 ที่เกี่ยวกับสุขอนามัยและการบริหารจัดการที่ยั่งยืน

 

       เรื่องพัฒนาคุณภาพชีวิต และปัจจัย 4 ลันตาก็ไม่ยิ่งหย่อน

       ในประเด็นที่อยู่อาศัย ทางลันตาก็ได้จับมือกับ สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) ทำโครงการบ้านมั่นคงที่โต๊ะบาหลิว 89 หลังคาเรือน และกำลังมีแผนจะทำโครงการบ้านพอเพียงต่อ

       ทั้ง 2 โครงการ เป็นการแก้ปัญหาที่อยู่อาศัยให้กับผู้มีรายได้น้อยในชุมชนต่าง ๆ ไม่ว่าจะปรับปรุงซ่อมแซมบ้านที่ทรุดโทรม สร้างบ้านใหม่ขึ้นทดแทนหลังเดิม ไปจนถึงการวางผังหมู่บ้านใหม่ให้ผู้คนมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น โดยทั้งหมดจะอาศัยความร่วมมือร่วมใจของชุมชนท้องถิ่นเป็นผู้ดำเนินการกันเอง เพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนของชุมชนต่อไป

       ในเรื่องสุขภาพ ก็มีการย้ายโรงพยาบาลมาอยู่จุดศูนย์กลางของเกาะ ให้ชาวบ้านเข้าถึงระบบสาธารณสุขได้มากขึ้น

       “แต่ก่อนชาวบ้านเกือบ 20,000 คน ต้องข้ามแพขนานยนต์มาแล้วต่อรถอีกเกือบ 30 กิโลเมตรกว่าจะถึงโรงพยาบาล ตอนนี้ก็ดีขึ้นมากเลยครับ” ท่านนายอำเภอว่า นี่ก็เป็นการมุ่งเน้นไปที่ SDG เป้าหมายที่ 11 ที่เกี่ยวกับการตั้งถิ่นฐานอย่างยั่งยืนของมนุษย์

        นอกจากนี้ยังมีการนำจักษุแพทย์มาตรวจตาให้ประชาชน เนื่องด้วยที่นี่คือดินแดนแห่งแดดลม เด็ก ๆ ก็มีปัญหาสายตาเยอะ ผู้ใหญ่ก็พากันเป็นต้อหิน ต้อกระจก จะละเลยเรื่องนี้นั้นเป็นไปไม่ได้

        “สำหรับเรื่องอาชีพ เราก็มองว่าจะทำยังไงให้ภาคการท่องเที่ยวสามารถสร้างรายได้ให้กับประชาชนได้ ไม่ใช่สร้างรายได้ให้กับกลุ่มทุน เราก็เลยยกระดับการท่องเที่ยวชุมชนให้เป็นยุทธศาสตร์เมือง” ทั้งยังมีการทำผลิตภัณฑ์ชุมชน และพัฒนาประมงพื้นบ้าน ผลักดันให้มีการร่วมกลุ่มกันเพื่อการต่อรองราคาที่ดีขึ้น

         เมื่อถามถึงการใช้ทรัพยากรทางทะเลอย่างยั่งยืน ตาม SDGs เป้าหมายที่ 14 ท่านนายอำเภอก็บอกว่า ปฏิญญาอ่าวลันตาช่วยให้ทุกคนให้ความร่วมมือกับกฎหมายประมงได้ดีมาก เพราะมีบรรยากาศของการอนุรักษ์และความยั่งยืนเกิดขึ้นอย่างเข้มข้น

         ธีรพจน์เสริมว่า ปฏิญญาอ่าวลันตาเป็นการนำคนฐากรากมาเชื่อมโยงกับการท่องเที่ยว โดยเฉพาะการจัดการทรัพยากรทางทะเล เนื่องด้วยลันตาเป็นเมืองท่องเที่ยวทางทะเล ถ้าเราสามารถจัดการทรัพยากรทางทะเลให้เกิดการใช้ประโยชน์อย่างยั่งยืนได้ ก็จะส่งผลให้การท่องเที่ยวนั้นยั่งยืนด้วย

         “ภาคใต้โชคดีที่มีเครือข่ายองค์กรชุมชนทรัพยากรสังคมที่มาเชื่อมกับประมงพื้นบ้านด้วย ทำให้เกิดเป็นชุมชนอนุรักษ์ในหลายพื้นที่ทั่วภาคใต้เลย” ธีรพจน์พูดต่อ การพัฒนาเรื่องประมงก็เกี่ยวเนื่องกับ SDGs เป้าหมายที่ 12 ที่เกี่ยวกับรูปแบบการผลิตและการบริโภคที่ยั่งยืนด้วย

      

      อย่างที่เรากล่าวไปตอนแรก ลันตามีผู้คนหลากหลายชาติพันธุ์ โดยที่ที่ชาวเลอูรักลาโวยจอาศัยอยู่เยอะที่สุดในประเทศก็คือเกาะลันตาแห่งนี้ และอยู่รวมกันสนิทสนมกับชาติพันธุ์อื่น ๆ เป็นอย่างดี ท่านนายอำเภอบอกว่าความจริงแล้วชาวอูรักลาโวยจอาจเป็นคนกลุ่มแรกที่มาอยู่ในเกาะลันตา ราว ๆ 400 ปีที่แล้ว ก่อนที่ตัวอำเภอจะก่อตั้งเมื่อ 122 ปีก่อน

      ชาวอูรักลาโวยจมีความเชี่ยวชาญในพื้นที่ทางทะเล รู้ว่าร่องน้ำไหนมีปะการัง มีกัลปังหาสวย ร่องน้ำไหนวางอวนได้ดี ทางลันตาก็เชื่อมโยงให้กลายเป็นท่องเที่ยววิถีชาติพันธุ์ ทั้งยังมีมหาวิทยาลัยมหิดลเข้ามาศึกษาภาษาอูรักลาโวยจ และบันทึกเอาไว้เพื่อไม่ให้สูญหายไปตามกาลเวลา

      “เราพยายามชูบทบาทและดึงเขาเข้ามามีส่วนร่วมในทุกการวางแผนเมือง ในปฏิญญาอ่าวลันตาก็มีพี่น้องชาวอูรักลาโวยจเข้ามาลงด้วยเช่นกัน” ท่านนายอำเภอกล่าว

       สิ่งที่ชาวลันตาทำสอดคล้องพอดีกับเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน ปี 2030 ของ UN ซึ่งส่งเสริมให้พี่น้องชาติพันธุ์เข้ามามีส่วนร่วมในเรื่องต่าง ๆ และป้องกันการเลือกปฏิบัติ

 

 

      แล้วผลตอบรับจากชาวลันตาล่ะ เป็นยังไงบ้าง - เรานึกสงสัย

      “แรก ๆ ก็มีการตั้งคำถามว่าปฏิญญาอ่าวลันตาคืออะไร จะมาบังคับให้ฉันทำนู่นทำนี่อีกหรือ แต่พอชวนคิดชวนคุยในหลายเวที พูดเรื่อง Soft Power การประกาศเจตนารมย์ร่วมกัน คนก็มีความรู้ความเข้าใจและให้ความร่วมมือมากขึ้น” ท่านนายอำเภอตอบก่อนที่ธีรพจน์จะพูดต่อ

       เรียกได้ว่าลันตาเป็นอีกตัวอย่างที่ดีของเมืองที่มีความร่วมมือจากทุกภาคส่วน ซึ่งเป็นไปตาม SDGs เป้าหมายที่ 17 ที่พูดถึงการเสริมความเข้มแข็งด้านการสร้างความร่วมมือระดับโลกเลยทีเดียว

       “พื้นที่อื่นในประเทศไทยก็ทำได้เหมือนกัน” เขาพูดถึงคนธรรมดาคนอื่น ๆ ที่อยากขับเคลื่อนเมืองที่ตัวเองอยู่ “ถ้าทุกคนมองย้อนกลับมาดูรอบตัวเอง ก็จะพบว่าทุกพื้นที่ในประเทศไทยนั้นอยู่กับฐานทรัพยากรที่เมื่อยกระดับการจัดการแล้วจะไปสู่ความยั่งยืนได้

       “เมื่อเราทำชุมชนตัวเองให้มีความยั่งยืนประมาณหนึ่ง แล้วชุมชนข้าง ๆ ทำแบบเดียวกัน เชื่อมโยงกันเป็นระดับอำเภอ ระดับจังหวัด ระดับภูมิภาค สุดท้ายปลายทางมันคือการยกระดับสู่ความยั่งยืนของประเทศ”

        “หลายคนไม่เชื่อในเรื่องแบบนี้จนกว่าจะเริ่มทำ เมื่อคุณเข้ามา คุณจะค่อย ๆ เห็นลึกขึ้น และสุดท้ายคุณจะมองเห็นภาพความยั่งยืนในอนาคตได้ด้วยตัวเองครับ” ธีรพจน์ หรือ โอ๊ะ เด็กชายชาวลันตาคนนั้นกล่าว

        คุณฝันอยากเห็นโลกเป็นแบบไหน - เราหันไปถามท่านนายอำเภอผู้เป็นคนโคราช แต่มุ่งมั่นในการพัฒนาลันตา แม้จะไม่ใช่บ้านเกิดของตัวเอง

       “อยากเห็นบรรยากาศที่ทุกคนในโลกช่วยกันจัดการปัญหา ทุกอย่างกลายเป็นของทุกคน แล้วมันจะเกิดอิมแพกต์อย่างแท้จริง เป็น Butterfly Effect นี่แหละครับ”